รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ชูแนวคิด ยกระดับกระทรวงแรงงานสู่การเป็น “กระทรวงด้านเศรษฐกิจ” ด้วยหลัก 3 ประการ “สร้าง-ยก-ให้ รวมไทยสร้างชาติ” พร้อมส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน ตามหลักการบริหารราชการของรัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
วันนี้ (28 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการกระทรวงแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ณ ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ซึ่งได้นำเสนอนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงานและการส่งเสริมความปลอดภัยด้านชีวอนามัย โดยกล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งเน้นการบริหารราชการมีนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นกระทรวงที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างฉับไว ตรงกับความต้องการของแรงงาน และสามารถต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
รมช.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวนโยบายที่มอบในครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวของแรงงานและครอบครัว ให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง เป็นแรงงานคุณภาพ และมีความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งต้องมีมาตรการการดำเนินงานเชิงรุกอย่างเข้มข้น เพื่อยกระดับกระทรวงแรงงาน จาก “กระทรวงด้านสังคม” ไปสู่ “การเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ”
สำหรับนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับกระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด 3 ประการ คือ “สร้าง-ยก-ให้ รวมไทยสร้างชาติ” เน้นการทำงานแบบนิว นอร์มัล ทำงานแนวใหม่ ฟังความคิดเห็นและความต้องการของทุกภาคส่วน ผสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวงที่มีภารกิจเชื่อมโยงกันและบูรณาการกับภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยหลัก 3 ประการดังกล่าว คือ 1. สร้างแรงงานคุณภาพ ด้วยการเตรียมความพร้อมทักษะฝีมือแรงงานรองรับ EEC เขตเศรษฐกิจพิเศษ และอุตสาหกรรม S-Curve และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง 2. การยกระดับแรงงานเศรษฐกิจคุณภาพ คือ การยกระดับแรงงานให้มีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนผ่านเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้นตามมาตรฐานฝีมือ นำไปสู่การรับรองความรู้ความสามารถในสาขาอาชีพที่เป็นอันตรายต่อสาธารณะ และ 3. การให้ คือให้แรงงานกลุ่มเปราะบางทางสังคม เข้าถึงการพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ มีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน มีความเข้มแข็ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวของแรงงานและครอบครัว
“การดำเนินการดังกล่าวนี้ จะสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ต้องอาศัยความร่วมมือและการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ซึ่ง กพร.ได้มีการบูรณาการการพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สภา/สมาคม และองค์กรอาชีพ รวมถึงสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) (สสปท.) เพื่อปรับการดำเนินงานและอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตรงกับความต้องการของทิศทางอุตสาหกรรมในปัจจุบันและอนาคตต่อไป พร้อมเสริมสร้างความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน” ศาสตราจารย์ นฤมล กล่าวในท้ายสุด