xs
xsm
sm
md
lg

“ครูเกษียณอัสสัมชัญ” ชนะคดี! ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ จ่ายชดเชยพร้อมเงินบำนาญบวกเงินขั้นเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลแรงงานกลาง ให้มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยและโรงเรียนอัสสัมชัญ ชําระค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เงินบํานาญ และเงินขั้นเพิ่มของเงินบํานาญต่อปี ตามสัญญาจ้างย้อนหลัง นับตั้งแต่วันเกษียณพร้อมดอกเบี้ย แก่ครูเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญ ภายใน 15 วัน เป็นบรรทัดฐานให้ครูโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศเมื่อเกษียณมีสิทธิได้รับค่าชดเชย เมื่อวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ แผนกแรงงาน ได้อ่านคําพิพากษา ให้มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้รับใบอนุญาต และนายจ้าง และโรงเรียนอัสสัมชัญ ชําระเงินคืนค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินบํานาญรายเดือนและเงินขั้นเพิ่มของเงินบํานาญต่อปีตามสัญญาจ้าง แก่ครูเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม ภายใน 15 วัน หลังจากครูถูกละเมิดสิทธิทางแรงงานมากว่าสิบปี


เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ได้มีข่าวความเดือดร้อนของครูเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย และเป็นโรงเรียนประถมและมัธยม นักเรียนชายล้วนที่มีอายุกว่า 134 ปี และเป็นที่ทราบกันดีถึงเศรษฐานะของมูลนิธิฯ ว่าอยู่ในฐานะค่อนข้างดี จากเงินบริจาคแรกเข้าเพื่อการศึกษาที่เป็นที่รับรู้ของสังคมว่า ต้องบริจาคราคาค่อนข้างสูง เพื่อให้ลูกหลานได้เข้ามาเล่าเรียน

แต่กลับปรากฏสภาพความเดือดร้อน ความลําบากในการยังชีพของครูเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ถูกเปิดเผย โดยกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ ว่า ครูเกษียณอัสสัมชัญหลายท่านใช้ชีวิตยามชราภาพอย่างยากลําบากข้นแค้น ซึ่งเมื่อได้มีการศึกษาถึงต้นเหตุของความยากจนของครู เกษียณจากโรงเรียนที่มีเศรษฐานะในสังคมดีแล้ว กลับพบว่า ครูเกษียณเหล่านี้ถูกละเมิดสิทธิทางแรงงาน อันได้แก่ ถูกบังคับให้เขียนหนังสือลาออกเมื่อเกษียณอายุ ส่งผลให้ไม่ได้รับค่าชดเชย หรือเงินสิบเดือน ตามกฎหมายแรงงาน และไม่ได้รับเงินบํานาญตามสัญญาจ้างซึ่งเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่ผู้บริหารมูลนิธิมีสัญญาว่าจะให้ แต่กลับมายกเลิกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากครูในฐานะลูกจ้าง


ความไม่เป็นธรรมที่ครูเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญได้รับนั้น เกินกว่าที่ ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญจะเพิกเฉยได้ จึงได้มีการหาแนวทางช่วยเหลือครูเกษียณผ่านงานการกุศลต่างๆ และที่สําคัญพยายามเจรจาหาทางออกกว่าสิบสิบครั้งตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา กับผู้บริหารมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด แต่ถูกปฏิเสธ บ่ายเบี่ยง จนไม่สามารถจะแก้ปัญหาด้วยการเจรจากันได้ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับครูเกษียณอัสสัมชัญ ทางกลุ่มศิษย์เก่าจึงได้เข้าไปช่วยเหลือครูเกษียณ 14 ท่านแรกที่ใกล้หมดอายุความ ในการมาขอความเมตตาจากศาลแรงงาน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 โดยแบ่งโจทก์เป็นสองกลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มแรก กลุ่มครูเกษียณ 10 ท่านแรก ที่ถูกบังคับให้เขียนหนังสือลาออก และไม่ได้รับค่าชดเชยหรือเงินสิบเดือนตามกฎหมายเมื่อถูกเลิกจ้าง

2. กลุ่มที่สอง กลุ่มครูเกษียณสี่ท่านที่เกษียณอายุปีการศึกษา 2560 ที่ไม่ได้รับเงินบํานาญ ตามสัญญาจ้าง เพราะถูกอ้างว่า สัญญาที่จะให้เงินบํานาญเป็นสัญญาของมูลนิธิ ไม่ใช่สัญญาของโรงเรียน ในเมื่อครูเป็นลูกจ้างของโรงเรียนจึงไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการจากระเบียบของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

กว่า 20 เดือนในการสู้คดีและสืบพยาน ผู้บริหารมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยและโรงเรียนอัสสัมชัญ ปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และใช้เทคนิคทาง กฎหมายในการประวิงเวลาของคดี โดยการขอชี้เขตอํานาจศาล เพื่อเลื่อนเวลาในการสืบพยาน/ไต่สวนในชั้นศาลออกไปกว่าหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ศาลแรงงานได้มีคําพิพากษาคืนความเป็นธรรมให้ครูเกษียณอัสสัมชัญทั้ง 14 ท่าน ดังนี้


กลุ่มแรก กลุ่มครูเกษียณ 10 ท่าน นั้นมีเจตนารมณ์ที่จะสิ้นสุดสภาพการจ้างด้วยการเกษียณอายุจริง เพราะตั้งใจทํางานจนถึงวันสุดท้ายของปีการศึกษา และไม่ได้ประสงค์จะลาออก/ไปทํางานอื่นแต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง ครูเกษียณ 10 ท่าน จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตาม กฎหมายแรงงาน (เงินสิบเดือน) พร้อมดอกเบี้ย 15%/ปี รวมเป็นเงินประมาณ 6,000,000 บาท

กลุ่มที่สอง กลุ่มครูเกษียณ 4 ท่าน นั้นเป็นลูกจ้างของโรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งมีมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับใบอนุญาต และเป็นผู้แทนนิติบุคคลโรงเรียนอัสสัมชัญ ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน 2550 และในทางปฏิบัติ ครูโรงเรียนอัสสัมชัญ ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ/นโยบายของมูลนิธิ รวมทั้งแนวทางการกําหนดการขึ้นเงินเดือน เงินประจําตําแหน่งต่างๆ ล้วนถูกกําหนดเกณฑ์จากมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

ดังนั้นแล้ว สัญญาจ้างของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยในฐานะนายจ้าง ที่ได้ทําสัญญาว่าจ้างครูโรงเรียนอัสสัมชัญนั้น ได้ระบุสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ไว้ว่า เมื่อเกษียณ อายุ มีสิทธิได้รับเงินบํานาญ จึงมีผลผูกพันให้ ครูเกษียณทั้ง 4 ท่านมีสิทธิได้รับเงินบํานาญย้อนหลัง ตามสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่เกษียณถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 30 เดือน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวมเป็นเงินประมาณ 2,000,000 บาท


อย่างไรก็ตาม หลังศาลแรงงานกลางได้มีคําพิพากษาเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2562 ผู้บริหารมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยและโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้เลือกที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คดี และนําเงินไปวางประกันที่ชั้นศาลแทน ส่งผลให้ครูเกษียณทั้ง 14 ท่านยังไม่ได้รับเงินคืนตามสิทธิ ต้องอดทนรอผลคําพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษต่อไป

ร่วม 30 เดือน หลังจากวันที่มายื่นขอความเมตตาจากศาล เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ ได้นัดอ่านคําพิพากษา โดยมีใจความสําคัญ ยืนตามคําพิพากษาศาลแรงงานกลาง และวินิจฉัยเพิ่มเติมให้ “มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลและโรงเรียนอัสสัมชัญ ร่วมกันชําระเงินคืนแก่ครูเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญ” ดังนี้

1. ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี ตามกฎหมายแรงงาน (ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทํางานของครูใหญ่ และครูโรงเรียนเอกชน 2542)

2. เงินบํานาญรายเดือน ตามสัญญาจ้าง พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่เกษียณ และให้ไปตลอดชีวิตของครูเกษียณ

3. ขั้นเงินเพิ่มของเงินบํานาญในทุกเดือนพฤษภาคมของทุกปี ตามสัญญาจ้าง พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่เกษียณ และให้ไปตลอดชีวิตของครูเกษียณ


แม้ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษได้มีคําพิพากษาแล้ว และมีคําสั่งให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาภายใน 15 วันแล้ว อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวมีผลผูกพันคืนสิทธิให้แก่ครูเกษียณแค่ 14 ท่านที่เป็นโจทก์เท่านั้น แต่ครูเกษียณและครูที่กําลังเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญอีกหลายร้อยท่าน ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนี้

1. ครูโรงเรียนอัสสัมชัญที่เกษียณแล้ว แต่ถูกบังคับไม่ให้รับเงินบํานาญตามสัญญาจ้าง และถูกบังคับให้ลาออก และไม่ได้รับค่าชดเชย อีกกว่า 20 ท่าน

2. ครูโรงเรียนอัสสัมชัญที่เกษียณแล้ว ได้รับเงินบํานาญตามสัญญาจ้าง แต่ถูกบังคับให้ลาออก และไม่ได้รับค่าชดเชยอีกกว่า 100 ท่าน

3. ครูโรงเรียนอัสสัมชัญที่ทํางานอยู่ในปัจจุบันอีกกว่า 200 ท่าน ได้ถูกนายจ้างเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้าง ยกเลิกสิทธิรับเงินบํานาญเมื่อเกษียณ โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากครู ทั้งที่มีข้อตกลงสัญญากันมาก่อนว่าเมื่อเกษียณมีสิทธิรับเงินบํานาญ

4. ครูปัจจุบันและครูเกษียณในโรงเรียนอื่นๆ ที่มีมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับใบอนุญาต เช่น โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนมงฟอร์ต โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เป็นต้น ล้วนแต่ถูกละเมิดสิทธิการได้รับค่าชดเชยเมื่อเกษียณ และถูกบังคับไม่ให้รับเงินบํานาญตามสัญญาจ้าง ไม่ต่างกับครูเกษียณและครูปัจจุบันของโรงเรียนอัสสัมชัญ


ทั้งนี้ แม้ครูเกษียณทั้ง 14 ท่านที่ได้รับคืนสิทธิตามสัญญาจ้างและกฎหมาย แต่ท่านก็ประสงค์ที่จะมอบเงินส่วนหนึ่งไว้แบ่งปันช่วยเหลือเพื่อนครูเกษียณที่ใช้ชีวิตวัยชราอย่างยากลําบาก เพราะถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับเงินบํานาญ ไม่ได้รับค่าชดเชย ซึ่งเกษียณมาร่วม 20 ปี ซึ่งหมดอายุความแล้ว ให้ได้รับความเป็นธรรมในบั้นปลายชีวิตบ้าง อันแสดงถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ของครอบครัวครูโรงเรียนอัสสัมชัญที่คอยอบรมสั่งสอนให้ลูกศิษย์มีจิตใจเมตตากรุณาแก่เพื่อนมนุษย์และสังคมตลอดมา

จากผลของคําพิพากษาดังกล่าว เป็นการสร้างบรรทัดฐานให้แก่ครูโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ที่ได้รับการคุ้มครองตามระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทํางาน ครูและครูใหญ่โรงเรียนเอกชน 2542 และ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน 2550 ว่า เมื่อเกษียณอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในการเลิกจ้าง ครูเกษียณโรงเรียนเอกชนมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ทั้งนี้ ค่าชดเชยและเงินบําเหน็จบํานาญ เป็นเงินคนละประเภทกัน ไม่สามารถนํามาทดแทนกันได้ เพราะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และวิธีคํานวณที่แตกต่างกัน

จากผลของคําพิพากษาของศาลแรงงานและศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษได้ยืนยันความชอบธรรมและความถูกต้องให้กับครูเกษียณอัสสัมชัญร่วมร้อยท่านและครูโรงเรียนอัสสัมชัญ ปัจจุบันกว่า 300 ท่าน ว่ามีสิทธิได้รับเงินบํานาญเมื่อเกษียณตามสัญญาจ้าง และมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อเกษียณตามกฎหมายแรงงาน ทั้งสองอย่าง ซึ่งหวังว่าจะได้มีการพูดคุยหาทางออกร่วมกับผู้บริหารมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลต่อไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความถูกต้องตามกฎหมาย แก่ครูเกษียณและครูปัจจุบันกว่าพันท่านในกว่า 14 โรงเรียนในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยต่อไป และหวังว่าการปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการของครูในครั้งนี้จะเป็นการริเริ่มที่นําไปสู่การปฏิรูปการศึกษาและแรงงานของประเทศไทยต่อไปอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น