“ศรีสุวรรณ” นำคณะ พนง.องค์การค้า สกสค. 961 คน ขึ้นศาล ลุ้นศาล ปค.มีคำสั่งระงับปลด หลังเปิดไต่สวน มั่นใจคำสั่งไม่ชอบ พนง.วอนนายกฯทบทวนคำสั่ง
วันนี้ (3 ส.ค.) ศาลปกครองออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีที่ นางอาจินต์ ไตรสุวรรณ กับพวกรวม 136 คน ซึ่งเป็นพนักงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ได้ยื่นฟ้อง สกสค. กับพวก รวม 3 คน ขอให้ศาลมีคำพิพากษา เพิกถอนคำสั่งปลดพนักงานทั้ง 961 คน ที่มีผลเมื่อ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยการไต่สวนในวันนี้ เป็นการไต่สวนตามคำร้องที่ขอให้ระหว่างการพิจารณาคดี ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว โดยสั่งระงับคำสั่งปลดพนักงาน ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
หลังการไต่สวนนานกว่า 2 ชม. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เพราะคำสั่งปลดมีผลแล้ว ถ้าหากศาลไม่กำหนดมาตรการคุ้มครองพนักงานทั้ง 961 คน ก็จะได้รับความเดือดร้อน เสียหาย ที่สำคัญ จะส่งผลกระทบบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับการดำเนินการ รวมทั้งครอบครัว อย่างไรก็ตาม ทางผู้ถูกร้องอ้างว่าการเลิกจ้างเป็นไปโดยชอบ เพราะว่าในระเบียบของ สกสค. ไม่ได้ระบุในเรื่องของการเลิกจ้างทั้งหมด ซึ่งเห็นว่า การเลิกจ้างตามระเบียบจะต้องเป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ ต้องคำพิพากษา หรือทำความเสียหายให้แก่องค์กรอย่างร้ายแรง แต่การมาเลิกจ้างทีเดียวทั้ง 961 คน ไม่ถูกระบุอยู่ในระเบียบดังกล่าว เมื่อไม่มีระเบียบมารองรับการเลิกจ้างคนจำนวนมาก จึงไม่น่าจะเป็นอำนาจโดยชอบตามกฎหมาย ซึ่งตนเชื่อว่าด้วยเหตุดังกล่าวศาลปกครองน่าจะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้
“ถ้าศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ณ วันที่ศาลมีคำสั่งก็จะต้องให้พนักงานทั้ง 961 คน กลับคืนสู่สภาพเดิม คือ ไปทำหน้าที่ใน สกสค.เหมือนเดิม ในตำแหน่งเดิม และอัตราเงินเดือนเดิม” นายศรีสุวรรณ กล่าว และเชื่อว่า ภายใน 2-3 วันนี้ ศาลน่าจะมีคำสั่งว่าจะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็อาจจะร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หรือไปยื่นฟ้องที่ศาลแรงงาน
นอกจากนี้ ยังระบุว่า ที่นำคดีนี้มาฟ้องศาลปกครองแทนที่จะเป็นศาลแรงงาน เพราะศาลแรงงานเป็นการพิจารณาข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าชดเชยหลังเลิกจ้าง ขณะที่ศาลปกครองจะเป็นการพิจารณาเรื่องการใช้อำนาจทางกฎหมาย การออกคำสั่งทางปกครอง ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้เป็นการออกคำสั่งปลดไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรื่องจึงน่าจะอยู่ที่อำนาจของศาลปกครองเป็นผู้พิจารณา
ขณะที่กลุ่มพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าว ยังหวังว่า ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพราะพวกเราทั้ง 961 คน ต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งอยากให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบทบทวนคำสั่งดังกล่าวของบอร์ด สกสค.