xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรค แจงปิดสถานที่เฉพาะ ห้องเรียน-แผนกที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนกลุ่มผู้สัมผัสไม่ต้องปิด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค ออกแนวทางปิดสถานที่เฉพาะเจอผู้ป่วยโควิด ให้ปิดเฉพาะชั้นเรียน หรือแผนกที่มีผู้ป่วย 3 วัน เพื่อทำความสะอาด ส่วนสถานที่พบผู้สัมผัส หรือผู้สัมผัสของผู้สัมผัส ไม่มีความเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องปิด ย้ำกลุ่มเสี่ยงสูงแค่กักตัวที่บ้านดูอาการ 14 วัน

วันนี้ (24 ก.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวว่า กรณี จ.ระยอง และ กทม.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และบทเรียนเรื่องปิด-ไม่ปิดสถานที่ โดยจะปิดสถานที่ต่อเมื่อมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเกิดขึ้นในสถานที่เท่านั้น จะไม่ปิดสถานที่กรณีเป็นสถานที่ที่พบผู้สัมผัส หรือพบผู้สัมผัสของผู้สัมผัส ซึ่งแทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย โดยได้ทำหนังสือในนามของเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศแล้ว เพื่อป้องกันการปิดสถานที่เกินความจำเป็น ดังนั้น ช่วงหยุดยาวนี้ คนไทยสามารถไปได้ทุกจุดในประเทศ รวมถึงระยอง และ กทม. โดยไม่มีการกักกันหรือเฝ้าระวัง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่บนฐานวิถีชีวิตใหม่ โดยระมัดระวังและป้องกันตนเองตลอดเวลา ด้วยการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง


พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา คร. กล่าวว่า แนวทางการปิดหรือไม่ปิดสถานที่ต่างๆ กรณีเกิดโรคโควิด-19 ขอให้ปิดสถานศึกษา สถานประกอบการ กรณีพบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 โดยหากพบจำนวน 1 รายขึ้นไป ให้ปิดห้องเรียน หรือแผนกที่เกี่ยวข้องในสถานที่นั้นตามข้อมูลการสอบสวนโรค เป็นเวลา 3 วันเพื่อทำความสะอาด โดยไม่ต้องปิดสถานศึกษา สถานประกอบการ กรณีที่ไม่พบผู้ป่วยยืนยันในสถานที่ ทั้งนี้ มีแนวทางดำเนินการ คือ 1. ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงในสถานศึกษา/สถานประกอบการ ให้สังเกตอาการเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน หากพบอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยระหว่างรอผลให้กักตัวที่บ้าน สถานศึกษา สถานประกอบการดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ และสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจความเสี่ยงและแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป โดยหากมีหลักฐานและความจำเป็นต้องปิดสถานที่ให้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

2. ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ ให้สังเกตอาการและไม่จำเป็นต้องปิดสถานที่ 3. ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จัดว่ามีความเสี่ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน หยุดงาน แต่ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน และ 4. ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ จัดว่าไม่มีความเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน หยุดงาน แต่ให้สังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน ทั้งนี้ ในทุกกรณี ขอให้ดำเนินการพื้นฐานของข้อมูลการสอบสวนทางระบาดวิทยาและสถานการณ์โรคในพื้นที่

พญ.วลัยรัตน์ กล่าวว่า ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง คือ ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 ตามข้อใดข้อหนึ่ง ได้แก่ ผู้ที่เรียน ผู้อาศัยร่วมห้องพัก หรือทำงานในห้องเดียวกันหรือคลุกคลีกัน ผู้ที่มีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที หรือถูกไอ จาม รดจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยไม่มีการป้องกัน ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ในห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ป่วย และอยู่ห่างจากผู้ป่วยไม่เกิน 1 เมตร มากกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ส่วนผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ ได้แก่ ผู้ที่ทำกิจกรรมอื่นๆร่วมกับผู้ป่วย แต่ไม่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยงสูง ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จัดเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ และผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ จัดว่าไม่มีความเสี่ยง




กำลังโหลดความคิดเห็น