สธ.นำร่องให้ “คีโม” ที่บ้าน ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่-ไส้ตรง ใน รพ. 7 แห่ง รวม 100 ราย หากได้ผลดี เตรียมขยายผลอีก 30 แห่ง หรือทั่วประเทศ และอาจขยายมะเร็งอื่น เช่น มะเร็งตับอ่อน กระเพาะอาหาร ศีรษะและลำคอ ด้าน รพ.รามาฯ ชี้มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงไม่แตกต่างจากการให้ที่ รพ. ช่วยประหยัดเตียง 3,500 เตียงต่อปี ลดค่าใช้จ่าย 50,000 บาทต่อคน รับยาตรงเวลา
วันนี้ (9 ก.ค.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเรื่องการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน ว่า มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากที่สุด อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 123.3 ต่อประชากรแสนคน มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 142,769 คน เสียชีวิต 73,000 คนต่อปี สธ.พยายามให้มีคุณภาพการรักษาที่ดีที่สุด โดย สธ.ร่วมกับ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล มะเร็งวิทยา สมาคมแห่งประเทศไทย และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จัดทำแนวทางวิธีการรักษาที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ รพ. คือ การให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน เพื่อลดความแออัด และคุณภาพการรักษา ในโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงรายใหม่ ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 13,000 รายต่อปี และเสียชีวิตประมาณ 5,000 รายต่อปี
นายสาธิต กล่าวว่า มะเร็งถ้าตรวจพบได้เร็ว มีการรักษาหายได้ ถ้าพบช้าโอกาสรักษาหายก็จะน้อยลง การให้เคมีบำบัดที่บ้านนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการป้องกันโรค โดยเราพบว่า 5 กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็ง คือ คนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย คนที่ไม่รับประทานผัก ผลไม้สด คนอ้วน คนสูบบุหรี่ และคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น ขอให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ และตรวจสุขภาพ คัดกรองโรคอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปควรตรวจทุกๆ 6 เดือน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การให้เคมีบำบัดที่บ้านในผู้ป่วยลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เริ่มไปแล้ววันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยในช่วง 3 เดือนของปีงบประมาณ 2563 คือ ก.ค. ส.ค. และ ก.ย. จะนำร่องใน รพ. 7 แห่ง คือ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี รพ.จุฬาภรณ์ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.มะเร็งลพบุรี และ รพ.มะเร็งชลบุรี จำนวนผู้ป่วย 100 ราย และจะประเมินถ้าทำได้ดี ในปี 2564 จะขยายครอบคลุมทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ เบื้องต้นประมาณ 30 แห่ง หรืออาจจะขยายไปทั่วประเทศหรือโรคมะเร็งอื่นๆ ขึ้นกับการประเมิน ส่วนค่ารักษานั้นได้หารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าขอให้เบิกจ่ายได้ตามสิทธิการรักษา ก็ถือว่าครอบคลุมในบัตรทอง ขณะที่สิทธิอื่นๆ กำลังเจรจาต่อไป
“ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าผู้ป่วยโรคอื่นๆ ดังนั้น การให้เคมีบำบัดที่บ้านจึงช่วยลดความแออัดใน รพ.ซึ่งเสี่ยงรับเชื้อโรคอื่นๆ ด้วยและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา โดยเฉพาะในช่วงที่มีโรคโควิด-19 และวันนี้ถึงแม้ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยในประเทศติดต่อกัน 40 กว่าวันแล้ว แต่ขอฝากประชาชน ว่า เวลาไปในที่ชุมชนขอให้สวมหน้ากาก เพราะเป็นอุปกรณ์ป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ ที่องค์การอนามัยโลกก็ยอมรับ และจากรายงานของไทยช่วงที่คนไทยสวมหน้ากากกันนั้น ทำให้โรคปอดบวม และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจลดลงไปมาก” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การรับเคมีบำบัด (คีโม) ปกติต้องมา รพ. เพื่อพบแพทย์และรอเตียง โดยปกติจะพบแพทย์ 1 ชั่วโมง และนอนรับยาเคมีบำบัดที่ รพ. โดยมะเร็งลำไส้ใหญ่จะมียา 3 ชนิด โดย 2 ชนิดแรกใช้เวลา 4 ชั่วโมง และชนิดที่ 3 ใช้เวลา 50 ชั่วโมง ทำให้ต้องนอน รพ. 2-3 วัน และมารับยาทุก 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนไข้เยอะขึ้น เตียงไม่พอ ทำให้ต้องรอเตียง 5-7 วัน ทำให้คนไข้มีความคลาดเคลื่อนของการรับยาและวิตกกังวล จึงเปลี่ยนรูปแบบมาให้เคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) คือ ให้ยาที่ รพ. 4 ชั่วโมง แล้วนำถุงยาอีกชนิดกลับบ้าน เมื่อยาครบ 2-3 วัน ผู้ป่วยจะกลับมาที่ รพ. เพื่อถอดถุงยาออก
นพ.พิชัย กล่าวว่า กระบวนการทำงาน คือ การเตรียมเคมีบำบัดมาตรฐาน โดยเภสัชกรจะเตรียมในตู้ผสมยาที่สะอาดและปลอดภัย โดยตัวถุงยามีขนาดประมาณ 100 มิลลิลิตร มีรูปแบบถุงยาทั้ง 2 วัน 1 วัน และเมื่อยาหมด ส่วนการบริหารยาเปลี่ยนการให้ยาจากข้อมือมาที่หน้าอก ตรงหลอดเลือดดำส่วนกลางบริเวณ คนไข้จะเอาถุงยาเสียบกับหลอดเลือดดำส่วนกลาง ทั้งนี้ บางคนเป็นวัยทำงาน หากเป็นงานที่ไม่ออกแรง อย่างอาจารย์ คนขับแท็กซี่ สามารถบริหารยาไปด้วยระหว่างทำงานได้ บางคนอยู่ที่บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เพราะมีญาติดูแล การนอนหลับสามารถเอาถุงยาอยู่ในระนาบเดียวกับผู้ป่วยได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายไม่สะดวกมาถอดถุงยาออกเมื่อครบกำหนด เช่น ผู้สูงอายุมากๆ อยู่คนเดียวไม่สะดวกเดินทาง จะมีทีมพยาบาลเยี่ยมบ้านไปพบและถอดถุงยาให้
นพ.พิชัย กล่าวว่า อุปกรณ์หรือถุงยามีขนาด 100 มิลลิลิตร ขนาด 1 กำปั้นมือ ตัวถุงมีความปลอดภัย โดยผิวนอกเป็น PVC ตกไม่แตก ฝาปิดอุปกรณ์มี 2 ชั้น ไม่มีการหลุดรั่ว สายอุปกรณ์มีแผ่นควบคุมอัตราการไหลของยา ปกติจะควบคุมให้อยู่ที่ 50 ชั่วโมง มีตัวกรองอนุภาค เช่น ฟองอากาศ จะปลอดภัยกับตัวผู้ป่วย จากการดำเนินการมาเป็นปีที่ 4 ของ รพ.รามาธิบดี พบว่าการให้ที่บ้านมีจำนวนมากกว่า ปี 2562 มีจำนวน 1,774 ครั้ง ประหยัดจำนวนเตียงมากกว่า 3,500 เตียงต่อปี การให้ยาแบบกลับบ้านได้รับยาตรงเวลา 100% ถ้าให้ที่ รพ.จะได้รับยาตรงเวลาแค่ 70% จากการสอบถามพบว่า มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างชัดเจน ไม่มีผลข้างเคียงแตกต่างกันทั้ง 2 รูปแบบ แต่จะปลอดภัยกว่าเพราะมีแพทย์พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด โดยโทร.หาผู้ป่วยทุกวัน และประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะรับยา 12 ครั้ง ประหยัดได้ 50,000 บาทต่อราย เรียกว่าพัฒนาคุณภาพแต่ลดค่าใช้จ่ายได้ ผ่านการรับรองโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)
เมื่อถามว่า เหตุใดถึงเลือกมะเร็งลำไส้ใหญ่มาเป็นโรคแรกในการรักษาวิธีนี้ นพ.พิชัย กล่าวว่า เนื่องจาก 1. มีจำนวนผู้ป่วยเยอะ 2. ตัวยาที่ใช้บริหารที่บ้าน เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วย ตัวยาที่บรรจุในถุงค่อนข้างปลอดภัยเมื่อกลับบ้าน และมีความเสถียรหรือความคงตัวของยา เมื่อนำกลับบ้านยังเหมือนกับอยู่ใน รพ. สูตรยาที่ใช้ขยายไปในมะเร็งกลุ่มอื่นด้วย ที่ใช้ยาตัวนี้ เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้ มีจำนวนน้อย และส่วนใหญ่มีปัญหาโภชนาการไม่ดี กินอาหารน้อย ความแข็งแรงน้อยกว่าคนปกติ อาจจะไม่ค่อยปลอดภัย ดังนั้น อาการผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรงนั้นจะค่อนข้างแข็งแรงกว่า อย่างไรก็ตาม เรามีแผนพัฒนาการให้เคมีบำบัดที่บ้านไปยังคนไข้มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งศีรษะและลำคอ ซึ่งมะเร็งศีรษะและลำคอจะใช้เวลานาน 5 วัน ก็ใช้ทดแทนการนอน รพ. 5 วันได้ แต่ต้องเลือกเฉพาะที่เจาะจงลงไป และอยู่ที่ความสมัครใจของผู้ป่วยด้วย หากเข้าโครงการจะมีการให้ความรู้ละอบรมแก่ผู้ป่วยและครอบครัว และมีพยาบาลผู้จัดการรายโรคติดตามเฉพาะราย