xs
xsm
sm
md
lg

นิทรรศการ “ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา” คนรุ่นใหม่ศึกษาการพัฒนา ความรุ่งเรืองของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนรุ่นปู่ย่าตาทวดถ่ายภาพไว้เมื่อ 50 ปี 100 ปีก่อน วันนี้ภาพถ่ายเหล่านั้นกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ ภาพที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอดีต

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ร่วมกับ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการ “ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา” เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันร่วมย้อนเวลากลับสู่รอยต่อความรุ่งเรืองสมัย รัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 ได้เห็นการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงของไทย โดยจะเปิดให้เข้าประชาชนเข้าชม ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม-20 กันยายน (ยกเว้นวันจันทร์) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน เล่าว่า ภาพถ่ายจากฟิล์มกระจกที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากภาพถ่ายชุด หอพระสมุดวชิรญาณ ที่องค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก เมื่อปี 2560 กล่องที่ 1-24 และ 50 -52 มีจำนวน 1,000 ภาพ บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยในอดีต รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านภาพถ่ายโบราณจัดทำคำบรรยายพร้อมคัดเลือกภาพถ่ายจำนวน 205 ภาพ มาจัดพิมพ์หนังสือชื่อ “ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์” เล่ม 2 แบ่งเป็น 2 หมวด คือ หมวดที่ 1 พระนคร แบ่งย่อยอีก 12 หมวดรอง ได้แก่ พระราชวังและวัง พระราชพิธี ศาสนสถาน แม่น้ำลำคลองถนน ยานพาหนะ โรงเรียน โรงพยาบาล โรงมหรสพ อาคารพักอาศัย อาคารสำนักงาน ห้างร้าน และอาคารเบ็ดเตล็ด หมวดที่ 2 หัวเมือง แบ่งเป็น 4 หมวดรอง ได้แก่ พระราชวัง เสด็จประพาส เสด็จตรวจราชการ และโบราณสถาน

จากนั้นได้นำภาพถ่ายจากหนังสือ ร่วมกับภาพถ่ายชุดอื่น ไปออกแบบเนื้อหาและนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการภายใต้ชื่อ “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา” รวมทั้งสิ้น 102 ภาพ แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของรัชกาลที่ 5 พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์ และการเสด็จประพาสต้นเพื่อได้ทรงใกล้ชิดและทราบทุกข์สุขของประชาชน
ส่วนที่ 2 ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา เป็นภาพวิถีชีวิตที่ธรรมดาเป็นกิจวัตรของผู้คนในกรุงเทพฯ ให้บรรยากาศของความสุขสงบ เรียบง่ายของผู้คนและบ้านเมือง

ส่วนที่ 3 ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก สะท้อนบทบาทของชาวตะวันตกที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7

ส่วนที่ 4 จตุตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของชาติตะวันตก โดยเฉพาะการสร้างและเชื่อมโยงระบบเส้นทางรถไฟ ซึ่งนำไปสู่การเติบโตทางการปกครอง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวเสริมว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาแปลงฟิล์มกระจกต้นฉบับให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล เพื่อลดการสัมผัสฟิล์มกระจกต้นฉบับที่มีลักษณะเปราะบาง เสี่ยงต่อการแตกหักเสียหาย จากนั้น จึงนำสำเนาไฟล์ดิจิทัลมากำหนดรหัสและจัดทำคำบรรยาย โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับภาพถ่ายโบราณ มาร่วมศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดคำบรรยายภาพที่ถูกต้องเหมาะสม แล้วนำข้อมูลให้บริการผ่านเว็บไซต์ www.archives.nat.go.th เพื่อให้ประชาชนได้สืบค้นในรูปแบบออนไลน์

นายนิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพเหล่านี้จะบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาของชาติไทย ซึ่งปัจจุบันนี้มีคนไทยที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ถ้าหากทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญของการเก็บรักษาภาพโบราณ ซึ่งทุกภาพก็เคยเป็นภาพปัจจุบันมาก่อน ผู้ที่มาชมนิทรรศการแล้วนึกถึงว่าภาพที่เขาถ่ายแล้วเก็บรักษาไว้อย่างดี ภาพนั้นในอีก 50 ปี 100 ปีข้างหน้า จะเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่สามารถเล่าเรื่องราวในวันนี้ให้คนอีก 100 ปีข้างหน้า ได้ศึกษาเรียนรู้ และนับเป็นโชคดีอย่างยิ่งของคนไทย ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ดูแลรักษาฟิล์มกระจก มรดกของชาติไว้อย่างดี จนกระทั่งเราสามารถย้อนกลับไปดูสิ่งที่ผ่านไปแล้วกว่า 100 ปีได้ เหมือนกับว่าเราย้อนเวลากลับไป

นอกจากนิทรรศการ ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา เปิดให้ชม 10 ก.ค.- 20 ก.ย. 63 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ยังจัดเสวนาวิชาการ ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ วันที่ 18 ก.ค.หัวข้อ เบื้องหลังการอ่านภาพฟิล์มกระจก และวันที่ 15 ส.ค. หัวข้อ เล่าเรื่องการเก็บรักษาฟิล์มกระจกและภาพเก่า สนใจดูรายละเอียดเว็บไซต์สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ www.nat.go.th หรือ facebook ของกรมศิลปากรและสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือ โทรศัพท์ 0-2281-1599






























กำลังโหลดความคิดเห็น