xs
xsm
sm
md
lg

เตือนเข้าวัดทำบุญมี “สติ” เว้นระยะห่าง-ล้างมือหลังกรวดน้ำ ยัน “เวียนเทียนออนไลน์” ได้กุศลเหมือนกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย เผย คนไทยละเลยเช็กอิน “ไทยชนะ 20.8% ร่วม วธ.ออกคู่มือการจัดพิธีศาสนา-ประเพณีต่างๆ แบบนิวนอร์มัล ย้ำ ทำบุญเวียนเทียนวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา ต้องมีสติเว้นระยะห่าง ทำตามคำแนะนำของวัด ส่วนอุปกรณ์กรวดน้ำใช้ร่วมกัน ต้องทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้ ล้างมือทันที กรมศาสนายันเวียนเทียนออนไลน์ได้กุศลเช่นกัน

วันนี้ (1 ก.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการสำรวจคนจำนวน 16,102 คน ไปสถานที่ต่างๆ เคยเช็กอินไทยชนะหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 20.8 เคยไปสถานที่ต่างๆ แต่ไม่เช็กอิน เหตุผล 3 อันดับแรก คือ ลืม 38.8% ไม่สะดวก เสียเวลา 23.8% และไม่มั่นใจความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัว 22.1% อย่างไรก็ตาม ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ กรมอนามัย ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดทำคู่มือการจัดพิธีทางศาสนาและการจัดกิจกรรมทางประเพณี เพื่อเป็นแนวทางสำหรับศาสนสถาน หรือสถานที่ประกอบพิธี ผู้เข้าร่วมพิธีต่างๆ จะได้เรียนรู้ร่วมกันว่าจะร่วมมืออย่างไร


พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า อย่างการทำบุญตักบาตรในช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ต้องสวมหน้ากากเมื่อต้องออกมาปฏิบัติกิจ วัดควรเพิ่มจุดล้างมือก่อนเข้าพื้นที่ เตรียมโต๊ะเพื่อจัดวาง กำหนดพื้นที่ให้เกิดระยะห่าง เพื่อให้รวมพิธีได้อย่างไม่แออัด กำหนดเส้นทางเข้าออก ไม่ให้หมุนเวียนไปมาจนเกิดการแออัด ส่วนผู้มาเข้าร่วมควรคัดกรองตนเองก่อนออกจากบ้านว่ามีอาการหรือไม่ หากคิดว่าจะมีไข้ ไอ จาม ไม่ควรมาร่วมกิจกรรม เพราะมีคนร่วมใช้พื้นที่จำนวนมาก และหากมาได้ควรสวมหน้ากากตลอดเวลา มาถึงวัดวางข้าวของที่เตรียมถวายไว้ที่โต๊ะที่จัดเตรียมไว้ ล้างมือให้สะอาด เดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ เว้นระยะในการเดิน หากทำเป็นสำรับอาหารสำหรับพระ แต่ละรูปจะเป็นประโยชน์ยิ่ง หากต้องการร่วมพิธีให้นั่งในจุดที่กำหนดไว้ ที่มีการเว้นระยะห่าง หลังเสร็จพิธีล้างมือให้สะอาดและกลับบ้าน

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ในคู่มือยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกที่จะเป็นวิถีใหม่ในส่วนของศาสนสถาน อย่างไรก็ตาม ศาสนสถานต้องเตรียมคัดกรองอุณหภูมิ จำกัดจำนวนคนเข้าร่วมกิจกรรม กำหนดจุดที่นั่งให้เว้นระยะห่าง ควรจะมีการลงทะเบียนไทยชนะเช่นกัน และใช้พื้นที่เท่าที่จำเป็น

นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า พิธีศาสนาเป็นการรวมคนเป็นส่วนใหญ่ แต่ทุกศาสนาในประเทศไทยนำข้อแนะนำของสาธารณสุขไปปฏิบัติ บางกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับการควบคุมโรค ก็มีข้อกำหนดให้ละเว้น เลี่ยง หรือหาวิธีที่เหมาะสมในการดำเนินการ ทุกศาสนามีการประกาศให้ศาสนิกชนดำเนินการตาม เช่น ศาสนาฮินดู หรือซิกข์ ที่มีการแจกขนมให้ศาสนิกชน ก้มีการงดเว้น หรือศาสนาคริสต์ ก็ละเว้นพิธีถือศีลจุ่ม เพื่อลดการสัมผัสในพื้นที่เดียวกัน แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น กรมการศาสนาก็ผ่อนคลายตามมาตรการภาครัฐ และออกมาตรการให้สอดคล้อง อย่างศาสนาพุทธ ซึ่งจะเข้าใกล้วันอาสาฬหบูชา หรือ วันเข้าพรรษา ก็จะมีจุดคัดกรอง ลงทะเบียนด้วยไทยชนะ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมพิธี มีการแนะนำผ่านจุลสารเล็กๆ จัดที่นั่งผู้เข้าร่วมพิธีอย่างมีระยะห่าง 1-2 เมตร แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นที่ด้วย

นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า ส่วนพระสงฆ์ที่ต้องสวดต่างๆ และใช้เสียง อาจลดการใช้หน้ากาก เพื่อเจริญพระพุทธมนต์อย่างเหมาะสม ก็ใช้เฟซชิลด์แทน เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่อาราธนาศีลก็ใช้เช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันลมหายใจ ไอจาม อยู่ในพื้นที่จำกัด เจ้าหน้าที่ถือเครื่องไทยทาน ก็ต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม สวมหน้ากากป้องกัน ทั้งนี้ มาตรการสาธารณสุขเราใช้เป็นมาตรการหลักควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนพิธีกรรมต่างๆ อาจปรับเปลี่ยนได้ เพราะเรื่องของศาสนาเป็นเครื่องกำหนดจิตใจ ไม่ใช่เครื่องกำหนดการแสดงออก แต่บางกรณีที่อาจมีการสัมผัสอยู่บ้าง เช่น ศาสนาพุทธที่มีการใช้ของร่วมกัน อย่างอุปกรณ์กรวดน้ำ อาจต้องหมุนเวียนใช้ ก็ต้องตั้งสติ เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้เรามีสติตลอดเวลา เมื่อรับของที่ใช้ร่วมคนอื่นมาแล้วก็ควรทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่เราพกประจำ ส่วนเจ้าหน้าที่ดูแลก็ต้องทำความสะอาดทุกครั้งเมื่อนำไปให้ผู้อื่นใช้งานต่อ

“เมื่อเรายึดคำสอนไม่ว่าศาสนาอะไรที่สอนให้เรามีสติในการใช้ชีวิต เราจะรู้ว่าเมื่อไรที่เราควรป้องกัน เรารับของจากใคร เมื่อรับแล้วจะต้องป้องกันตัวต่อไปอย่างไร ถ้ามีสติตลอดเวลา การประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อได้ ด้วยปราศจากโรคภัยไข้เจ็บที่จะเข้ามาเบียดเบียนต่อไป” นายกิตติพันธ์ กล่าว

ถามถึงการเวียนเทียนออนไลน์ได้บุญหรือไม่ นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า ศาสนาหรือคำสอนเป็นเครื่องกำกับจิตใจ การแสดงออกบางอย่าง ถ้าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยก็อาจไม่ต้องดำเนินการลักษณะนั้นก็ได้ เราอาจนั่งสมาธิ เจริญสติภาวนาที่บ้าน ไม่จำเป็นต้องไปศาสนสถาน แต่ศาสนสถานกับศาสนิกชนเป็นการเกื้อกูลกันอยู่ หากจะไปศาสนสถานก็ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างเคร่งครัด ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ทำที่บ้าน เจริญจิตภาวนาก็เป็นการระลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัย ก็ถือว่าได้กุศลจากการรำลึกถึงพระบริสุทธิคุณ พระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า แต่ถ้ามีโอกาสขอให้มีสติควบคุมตัวเอง ระยะห่างที่ต้องรักษาไว้ จริงๆ พระพุทธศาสนาเราก็สอนเรื่องระยะห่าง เช่น การเดินจงกลม ก็กำหนดลมหายใจเดินจังหวะก้าวสม่ำเสมอ ไม่ไปกระชั้นหรือเร็วเกินไป เดินทางสายกลาง สามารถปรับใช้ได้ทุกสถานการณ์ ถ้าเวียนเทียนออนไลน์ก็ได้กุศลถึงพร้อมเช่นเดียวกัน เพระาอย่างน้อยก็ระลึกถึงพระรัตนตรัยในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

การเข้าร่วมแต่ละศาสนสถานต้องจำกัดคนหรือไม่ว่าห้ามเกินเท่าไร ห้ามได้จริงหรือไม่ นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า การจำกัดจำนวนคนขึ้นกับพื้นที่ศาสนสถานนั้นๆ เช่น เวียนเทียนพื้นที่โลง รอบพระอุโบสถก็คนมากได้ ถ้ารอบพระเจดีย์ขนาดเล็กกว่า จำนวนคนก็น้อยลง แต่การจำกัดจำนวนคนขึ้นกับขนาดพื้นที่ที่จะไม่แออัด ระยะห่าง 1-2 เมตร จะมี 3-4 แถวก็ได้ และขึ้นกับผู้จัดการในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเวียนเทียนอาจไม่จำเป็นต้องไปพร้อมกันตอน 19.00 น. ยิ่งตอนนี้ไม่มีเคอร์ฟิวก็อาจจะจัดเพิ่มตอนดึกขึ้นได้

ถามถึงกรณีการไปแล้วไม่เห็นสถานที่ให้มีการเช็กอิน สวมหน้ากากก็ไม่เข้มงวด จะแจ้งอย่างไร พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า อยากให้เป็นความร่วมมือ ที่เราประสบความสำเร็จ ก็เพราะเป็นความร่วมมือ ข้อปฏิบัติต่างๆ จริงๆ เป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเอง อย่างการสวมหน้ากากตลอดเวลาในพื้นที่ที่ไปใช้ร่วมกับคนอื่น แต่ละพื้นที่ก็มีข้อปฏิบัติ มั่นใจว่า บางวัดอาจจัดเวียนเทียนได้ถ้ามีพื้นที่ เมื่อไปถึงก็ควรปกฺบัติตามที่กำหนดไว้ ต้องเห็นก่อนว่าเป็นประโยชน์กับตัวเราเอง เจ้าของสถานที่สำคัญทั้งป้ายประกาศ การแจ้งเตือนต่างๆ ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ถ้าบางสถานที่เห็นแล้วว่าบางการจัดการยังขาดความมั่นใจ ตอนนี้ก็จะมีผู้พิทักษ์ไทยชนะลงไปชวยดำเนินการ อาจใช้ช่องทางในไทยชนะแจ้งมาว่าพบเห็นอะไรที่จะนำไปสู่ความไม่ปลอดภัย จะมีทีมลงไปช่วยให้การปฏิบัติต่างๆ เป็นไปอย่างต้องการ ต้องมีสติไม่อยู่ในพื้นที่แออัด


กำลังโหลดความคิดเห็น