xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย เสพยาแบบพิสดารผสม “สารปรอทวัดไข้” เสี่ยงไตวายถึงขั้นตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์ พบนักเสพ นำ “ปรอทวัดไข้” มาดัดแปลงเป็นอุปกรณ์เสพยา บางคนนำสารปรอทมาผสมสารเสพติดเพื่อเสพ ชี้ อันตราย ปรอทระเหยเป็นไอง่าย ไม่มีสีและกลิ่น รับปริมาณมากแบบเฉียบพลัน ทำหายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกอวัยวะภายใน ถ่ายเป็นเลือด ไตวาย เกิดอาการทางระบบประสาท เสี่ยงดับได้

วันนี้ (23 มิ.ย.) นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยาเสพติดได้แพร่ระบาดเข้าสู่กลุ่มวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยแห่งการอยากรู้อยากลอง จึงมักจะหาตัวยาใหม่ๆ หรือวิธีการเสพยาแปลกๆ ขณะนี้พบการนำปรอทวัดไข้ที่ขายตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อ มาดัดแปลงเป็นอุปกรณ์เสพยา เพราะเชื่อว่าปรอทวัดไข้ทำมาจากแก้วที่บางนำความร้อนได้ดี เผาระเหยเป็นไอได้ง่าย หรือแม้กระทั่งนำสารปรอทที่อยู่ในปรอทวัดไข้มาผสมยาเสพติด บางรายนำหลอดไฟมาบดแล้วผสมกับยาเสพติด เพื่อทำให้มึนเมา ทั้งหมดล้วนเป็นความเชื่อที่แฝงไปด้วยความอันตราย


“การนำปรอทวัดไข้มาดัดแปลงเป็นอุปกรณ์เสพยาหรือนำปรอทด้านในมาผสมยาเสพติดแล้วเสพเข้าร่างกายอันตรายมาก เพราะปรอทเป็นโลหะหนัก มีสถานะเป็นของเหลว สามารถระเหิดกลายเป็นไอได้ดีที่อุณหภูมิห้อง และจะกลายเป็นไอมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ไอปรอทไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่มีสีไม่มีกลิ่น หากได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายปริมาณมากแบบเฉียบพลัน จะทำให้หายใจลำบาก หอบ เจ็บหน้าอก ปากพอง เหงือกอักเสบ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง เลือดออกในอวัยวะภายใน ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด ไตวาย เกิดอาการทางระบบประสาท และอาจเสียชีวิตได้” นพ.มานัส กล่าว

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า กลุ่มวัยรุ่นนักเสพที่นิยมหาวิธี หรือส่วนผสมที่แปลกใหม่ในการเสพยา ให้ระวังและตระหนักถึงความอันตรายของสิ่งที่จะเข้าสู่ร่างกายให้มาก บางอย่างอันตราย อาจทำให้เสียชีวิตได้ แนะนำว่าผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หากมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือพบวัสดุอุปกรณ์ที่อาจนำไปสู่การเสพยา ต้องรีบเข้าไปพูดคุย ถามข้อมูล รวมถึงบอกกล่าวให้รู้ถึงความอันตราย และรีบพาไปปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หลังจากนั้น ต้องพยายามหาเวลาว่างทำกิจกรรมทำร่วมกัน ติดตามเฝ้าระวัง แต่ไม่ใช่จับผิดหรือระแวงไม่ไว้ใจ ให้โอกาสบุตรหลานเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา อันจะนำไปสู่การลดละเลิกยาเสพติดได้


กำลังโหลดความคิดเห็น