มส.เห็นชอบ "วัด" จัดกิจกรรมทางศาสนาได้ตามเดิม หลังโควิดเริ่มคลี่คลาย ย้ำ "พระสงฆ์" สวมหน้ากาก รักษาสุขภาพ "วัด" ต้องคัดกรอง ลงทะเบียนคนเข้า จัดทุกกิจกรรมแบบเว้นระยะห่าง ทั้งเวียนเทียน งานบุญ งานบวช พ่วงลดความแออัด จัดจุดล้างมือ ทำความสะอาด ปชช.สวมหน้ากากตลอดเวลา สธ.ย้ำหากอาพาธช่วงเข้าพรรษา ติดต่อ รพ.ใก้ลเคียงให้บริการเชิงรุกได้
วันนี้ (22 มิ.ย.) นายสาโรจน์ กาลศิริศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวในงานแถลงข่าวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า ขณะนี้มีวัดที่อยู่ในการดูแลของ พศ.ทั่วประเทศ 4.2 หมื่นแห่ง มีภิกษุ สามเณร ประมาณ 3 แสนรูป ก่อนหน้านี้ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มส.มีมติให้วัดทุกแห่งงดทำกิจกรรมทางศาสนาทุกประเภท ยกเว้นการปฏิบัติตามกิจของสงฆ์ เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น บำเพ็ญเพียรตามปกติ ซึ่งวัดทุกแห่งปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว มส.จึงมีมติให้วัดทุกแห่งกลับมาทำกิจกรรมทางศาสนาได้ทุกประเภทตามเดิม แจ้งให้เจ้าคณะจังหวัดรับทราบแล้ว
นายสาโรจน์กล่าวว่า ดังนั้น เร็วๆ นี้ที่จะมีวันพระใหญ่ คือ วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ 5 ก.ค. และวันเข้าพรรษา คือ วันที่ 6 ก.ค. สามารถดำเนินกิจกรรมทางพุทธศาสนาได้ตามปกติ เช่น ฟังเทศน์ ฟังธรรม ทำบุญตักบาตร เวียนเทียน ซึ่งอย่างวันวิสาขบูชาทีผ่านมาก็ยกเลิกไปไม่มีการจัด ก็กลับมาทำได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น การสวมหน้ากาก มีการตั้งจุดคัดกรอง วัดไข้ จุดเจลล้างมือ ทำความสะอาดบ่อยๆ ทำให้เป็นชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันโควิด-19 โดยย้ำเจ้าอาวาสทั่วประเทศแล้ว ส่วนพุทธศาสนิกชนที่เข้าไป ก็ต้องรักษาระยะห่าง หากมีคนจำนวนมากให้จัดเป็นรอบๆ
"นอกจากนี้ ขอให้วัดช่วยแนะนำญาติโยมที่จะเข้ามาให้ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก และจัดการเรื่องลงทะเบียน ซึ่งบางัดมีการใช้ไทยชนะแล้ว บางวัดยังไม่มี ตรงนี้ก็จะไปหารือกันต่อ แต่วัดที่ยังไม่ใช้ก็อาจต้องลงทะเบียนผ่านสมุดก่อน กิจกรรมต่างๆ ที่จัดในวัดไม่ว่าจะเวียนเทียน งานบวชต่างๆ ก็ต้องเว้นระยะห่าง ลดความแออัด โดยจะให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) ติดตามประเมินผล" นายสาโรจน์กล่าว
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะที่การดูแลสุขภาพระสงฆ์ช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ควรปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และพระธรรมวินัย โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายที่เหมาะสม อย่างน้อยวันละ 30 นาที โภชนาการก็ต้องฉันอาหารครบ 5 หมู่ สวมหน้ากากผ้าตลอดเวลา คำนึงถึงระยะห่างทางสังคม กรณีมีปัญหาระหว่างเข้าพรรษา เช่น กรณีมีการติดต่อขยายวงกว้าง สามารถติดต่อ รพ.ในพื้นที่ หรือ รพ.สงฆ์ กรมการแพทย์ ก็ให้บริการเชิงรุกได้ เนื่องจากพระสงฆ์อาจไม่สะดวกที่มาตรวจที่ รพ. ส่วนวัดนั้นต้องเตรียมพื้นที่ให้สะอาดสม่ำเสมอ ลดภาวะแออัดในสถานที่ปิด เช่น พระอุโบสถ ศาลาต่างๆ ระบบระบายอากาศต้องดี มีจุดคัดกรอง ตรวจวัดอุณหภูมิ มีการลงทะเบียน มีเจลล้างมือให้เพียงพอ ส่วนประชาชนที่จะเข้าไปทำบุญ การ์ดอย่าตก จะนำอะไรเข้าวัดต้องระวังเรื่องการติดเชื้อ