xs
xsm
sm
md
lg

เตือนสัปดาห์นี้อาจพบเด็กจมน้ำตายเพิ่ม ย้ำผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด เผย 10 ปี ดับแล้ว 8.3 พันราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เตือนสัปดาห์นี้อาจมีเด็กจมน้ำตายเพิ่มขึ้น เหตุยังปิดเทอม อากาศร้อน ชักชวนกันไปเล่นน้ำ แนะผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด ส่วนชุมชนควรเดินหน้า 4 เรื่อง ป้องกันเด็กจมน้ำตาย ระบุ 10 ปี คร่าชีวิตเด็กไปแล้ว 8,394 ราย

วันนี้ (21 มิ.ย.) กรมควบคุมโรค เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 21-27 มิ.ย. 2563 เตือนระวังการจมน้ำของเด็ก โดยระบุว่า จากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปี 2553-2562 พบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงถึง 8,394 ราย เฉลี่ยปีละ 839 ราย หรือวันละ 2 ราย เพศชายมีอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่าเพศหญิง โดยสาเหตุหลักเกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำเป็นกลุ่มตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เด็กขาดทักษะเอาชีวิตรอดในน้ำ และการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ส่วนสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่อยู่ในชุมชน เช่น สระน้ำ บ่อขุดเพื่อการเกษตร ฝายทดน้ำ อ่างเก็บน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำส่วนใหญ่ไม่มีการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น การปักป้ายเตือน การกั้นรั้ว การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ เป็นต้น

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่า ในช่วงนี้มีโอกาสจะพบเหตุการณ์คนจมน้ำได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เนื่องจากยังเป็นช่วงปิดเทอมยาว ประกอบกับสภาพอากาศตอนกลางวันค่อนข้างร้อนถึงร้อนจัด เด็กๆ มักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้เด็กตกน้ำหรือจมน้ำเสียชีวิตได้

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีป้องกันเด็กจมน้ำ คือ ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง ส่งเสริมและสนับสนุนให้ครัวเรือนที่มีเด็กแรกเกิด-2 ปี มีการใช้คอกกั้นเด็ก (Playpen) สำหรับในชุมชน ขอให้ร่วมกันดำเนินการ ดังนี้

1. สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน เฝ้าระวังและแจ้งเตือน เช่น ประกาศเสียงตามสาย ตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง

2. จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน ให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า และไม้ เป็นต้น

3. สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และรู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำเมื่อตกน้ำ โดยการลอยตัวเปล่าหรือลอยตัวโดยใช้อุปกรณ์ช่วยชูชีพ

4. สื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชุมชนเกิดความตระหนักและมีส่วนร่วม ที่สำคัญ หากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้ ตะโกน คือเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วย และโทร.แจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โยน คือ โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว ช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และยื่น คือ ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น