xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจพบ “นร.-ครู-ผู้ปกครอง” 70% ไม่คุ้นเคยเรียนออนไลน์ ต้องปรับ “ครู” เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสวท.สำรวจพบ 70% นร.-ครู-ผู้ปกครอง ไม่คุ้นเคยการเรียนออนไลน์ 31% มีปัญหาขาดอุปกรณ์ ขาดความพร้อม 12% ขาดสมาธิระหว่างเรียน ชี้ นิวนอร์มัลการศึกษาไทย ต้องปรับครูเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ จะเป็นคานงัดการศึกษาไทย สอนครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตจริง

ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวในเวที Recovery Forum ในหัวข้อ “School Reopening and Teacher Empowerment to cope with the Next Normal in Education” จัดโดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่า สสวท.ได้สำรวจข้อมูลการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ปัจจุบันของครูระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ในช่วงโควิด-19 พบว่า นักเรียน/ครู/ผู้ปกครอง ร้อยละ 70 ไม่คุ้นเคย/ไม่พร้อมกับการเรียนการสอนออนไลน์ ด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยี พบว่า ร้อยละ 31 ขาดอุปกรณ์ ขาดความพร้อม สัญญาณโทรศัพท์/อินเทอร์เน็ตไม่เสถียร ทางบ้านไม่มีกำลังสนับสนุน

ด้านพฤติกรรม พบว่า ร้อยละ 12 นักเรียนขาดสมาธิระหว่างเรียนออนไลน์ การสอนค่อนข้างจะเป็นแบบ One-way จะเป็น Two-way เฉพาะครูที่มีเทคนิคและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์สอนออนไลน์ได้ดี และปัญหาของผู้ปกครองต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานให้ตั้งใจเรียน


ด้านการสนับสนุนจากส่วนกลาง พบว่า ร้อยละ 13 ครูที่สนใจการสอนออนไลน์ ต้องการแนวทาง หรือการฝึกอบรมจากส่วนกลางเกี่ยวกับวิธีการใช้โปรแกรม เทคนิคการสอนออนไลน์ การสนับสนุนงบประมาณด้านอุปกรณ์และโปรแกรม และสื่อ/ตำราเรียนออนไลน์ ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีการจัดทำแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในส่วนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทั้งรูปแบบปกติ และการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน บทบาทในการเรียนของนักเรียน บทบาทในการสอนของครู การเรียนในชั้นเรียน (On-Site) การเรียนผ่านโทรทัศน์ (On-Air) และการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Online) เป็นต้น

ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวว่า นอกจากนี้ สสวท. ยังได้สรุปนิวนอร์มัลทางการศึกษาไทย ว่า การศึกษายุคนิวนอร์มัลนั้นระบบการศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคม มีการให้ความสำคัญกับกระบวนการ รวมถึง well-being ของนักเรียนแบบองค์รวม เกิดการพัฒนาการศึกษาโดยการรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกระดับ ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน ร่วมกันตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษา ออกแบบหลักสูตรโดยคำนึงถึงความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน มีแบบทดสอบที่หลากหลายเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน รวมถึงนักเรียนและครูร่วมกันออกแบบสภาพแวดล้อมในห้องเรียน อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับการศึกษายุคนิวนอร์มัล จำเป็นต้องปรับบทบาทครูในรูปแบบดั้งเดิมเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Learning Facilitator) โดยเชื่อว่า คานงัดของการศึกษาไทย คือ การมีครูคุณภาพจำนวนมากที่มีความสามารถในการเป็น Facilitator มีความสามารถในการเชื่อมโยงหลักสูตร วิธีการสอนและการประเมินผลการเรียนรู้เพื่อการพัฒนา โดยปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ ผ่านการฝึกอบรมครูให้ครูเปลี่ยนจากผู้สอน (Teacher) ไปเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ ชักชวนให้เด็กได้เรียนรู้

ทั้งนี้ สสวท. ได้นำเสนอ 2 แนวคิดสำคัญในการมุ่งเน้นการพัฒนาครู คือ 1. เปลี่ยนจากครูแบบเดิม เป็นครูที่สอนครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตจริงได้ (Transform Teachers to New Normal in Education) อาทิ โครงการศูนย์กลางการพัฒนา STEM Facilitator เมืองสะเต็มศึกษา ฐานปฏิบัติการสำหรับฝึกแนวทางสะเต็มศึกษา ที่จัดตั้งขึ้นโดยเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (Public-Private-People Partnership) ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการขยายผลสู่ภูมิภาค โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ครูวิทย์-คณิตทั่วประเทศ มีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา และนักเรียนสามารถนำสมรรถนะด้านสะเต็มมาใช้ เพื่อการเรียนรู้ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21

2. แพลตฟอร์มสนับสนุนเพื่อการพัฒนาครูอย่างยั่งยืน (Supporting Platform for New Normal Teachers) ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการที่เป็น National Online Platform อาทิ ระบบพี่เลี้ยงและการกำกับ MENTORING & SUPERVISING แพลตฟอร์มการให้คำปรึกษา Online STEM Education สำหรับบุคลากรทางการศึกษาและผู้ปกครอง

“หากค่อยๆ พัฒนาครูให้มีจำนวนเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพื่อขยายวิธีการเรียนแบบ STEM Education ได้ จะทำให้เด็กมีความเข้าใจ ทำให้เด็กคิด วิเคราะห์เป็น เมื่อเด็กเรียนระดับมหาวิทยาลัย จะสามารถนำความรู้ด้านการคิด วิเคราะห์ มาประกอบการเรียนได้ ซึ่งตอนนี้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้ง 38 แห่ง ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ครู ผ่านการพัฒนาครูในทุกพื้นที่ของประเทศ ให้มีความพร้อมสู่การเป็นครูยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาการคำนวณ” ศ.ดร.ชูกิจ กล่าว


ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ.สอวช. กล่าวว่า ความต้องการบุคลากรของบริษัทที่เปลี่ยนไป โดยเน้นบุคลากรที่มี Agility ที่ไม่ใช่มีเพียงความเชี่ยวชาญ รู้ลึกเฉพาะเรื่อง แต่ต้องเป็นคนมีความสามารถที่หลากหลาย ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก และต้องสร้างระบบการเรียนรู้ที่แตกต่างจากปัจจุบัน ซึ่งเป็นความท้าทายทางด้านการศึกษา และมองว่าต้องหาความร่วมมือทั้งจากภาคเอกชน ชุมชน เข้ามาเป็นกำลังเสริม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่เห็นว่าในยามวิกฤตในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่จะจัดการศึกษาตามวิถีนิวนอร์มัล และจะต้องทำอย่างรวดเร็ว เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดครั้งใหญ่ มีความท้าทายที่จะยกระดับการศึกษา ปลดล็อกระบบการศึกษาในหลายมิติได้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นแพลตฟอร์มหลักในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายโดยดึงภาคเอกชน ประชาสังคม และชุมชน เข้ามาช่วย และมองว่าควรเปลี่ยนระบบการศึกษาประเทศไทยให้เป็น Education Agility Platform โดยเชื่อว่าเด็กไทยมีศักยภาพ หากจัดระบบสนับสนุนการเรียนรู้ตามวิถีใหม่สำหรับยุคดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม จัดแพลตฟอร์ม กิจกรรม ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสังคม จะสร้างระบบการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างสมบูรณ์ เป็น New Normal in Education อย่างแท้จริง








กำลังโหลดความคิดเห็น