พว. MOU โรงเรียนพระปริยัติธรรม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัปครูปริยัติศึกษาเรียนรู้แบบแอกทีฟเลิร์นนิง เพื่อนำไปถ่ายทอดภิกษุ สามเณร
วันนี้ (18 มิ.ย.) สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) ได้ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ในการสนับสนุนส่งเสริมบุคลากรทางการศึกษาและพัฒนากระบวนการเรียนการสอนแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตัวเอง (Active Learning) ระหว่าง กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับ สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โดยมี นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา เป็นสักขีพยาน
พระครูสุวรรณสรานุกิจ ประธานกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา กลุ่มที่ 10 กล่าวว่า การที่เบญจภาคีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ พว.เพราะได้ตั้งความหวังไว้ว่าสถาบันนี้จะทำให้การศึกษาของคณะสงฆ์ที่จัดการศึกษาอยู่ในปัจจุบันนี้ จะยกระดับขึ้นอีกระดับหนึ่ง พร้อมกันนี้ ยังเป็นผลดีต่อครูที่จะนำนวัตกรรมใหม่ๆ ไปสอนลูกศิษย์เพราะครูโรงเรียนพระปริยัติธรรมไม่ค่อยได้รับการอบรม เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ และส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกล เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้รับทราบถึงนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นน้อยมาก ดังนั้น ความร่วมมือครั้งนี้เป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ทำให้การศึกษาสายปริยัติธรรมดีขึ้น
“การเรียนการสอนแบบแอกทีฟเลิร์นนิง จะเป็นประโยชน์เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม ไม่เหมือนสมัยที่อาตมาเรียน ครูจะถือหนังสือเล่มเดียวไปเขียนที่กระดานให้นักเรียนอ่านก็จบ จะไม่มีการคิดวิเคราะห์เหมือนปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีตรงกับหลักของพระพุทธศาสนาซึ่งพระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจสี่ ซึ่งดูแล้วการเรียนการสอนแบบแอกทีฟเลิร์นนิงตรงกับหลักของพระพุทธเจ้าที่เอามาใช้ อยู่ที่คนจะนำมาใช้ จะใช้เป็นหรือเปล่า เพราะการสอนโดยให้รู้ก็คือการคิดวิเคราะห์ รู้ปัญหา รู้จักคิดวิเคราะห์ หลักสูตรก็ต้องรู้ปัญหาซึ่งปัญหาในทางพระพุทธศาสนา ก็คือ ทุกข์ ทุกอย่างนี้ ปัญหาดังนั้น ในการจัดการเรียนการสอนต้องรู้ปัญหาคือเข้าใจในประเด็นที่จะต้องสอน นั่นคือ หลักอริยสัจสี่ เมื่อรู้ปัญหาแล้วก็ต้องรู้สาเหตุของปัญหาเราจะสอนนักเรียนเราก็ต้องรู้ว่านักเรียนคนไหนเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร จะแก้ปัญหาให้เขายังไงซึ่งเราจะต้องเอา หลักอริยสัจสี่มาใช้และการคิดนวัตกรรมมาใช้เราก็ต้องรู้เข้าใจใน วิธีการซึ่งเหล่านี้ตรงกับการสอนแบบแอกทีฟเลิร์นนิง” พระครูสุวรรณสรานุกิจ กล่าว
ด้าน ดร.ตวง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การเรียนการสอนของพระภิกษุสามเณรไม่ได้มีงบอุดหนุนรายหัว พระท่านก็จัดการศึกษาสายปริยัติธรรมตามบารมีของท่าน จึงได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2562 ขึ้น โดยเนื้อหาสาระประกอบด้วย 1. บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนของโรงเรียนพระปริยัติธรรมจะต้องเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่มีตำแหน่ง เงินเดือน วิทยฐานะ 2. การจัดการเรียนการสอนของพระต่อไปจะต้องมีเงินอุดหนุนรายหัวที่เหมือนกับนักเรียนทั่วไป 3. การทำวิทยฐานะจะต้องได้มาตรฐานคุณภาพเทียบเคียงประสบการณ์ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะทำได้จำเป็นจะต้องหามืออาชีพมาช่วยพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ตนเห็นว่า พว. มีประสบการณ์มายาวนานกว่า 30 ปี ได้พัฒนาโรงเรียนรัฐ เอกชน ทำการวิจัยกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยล่าสุดผลงานของ พว.ถือว่าเป็นหนึ่งของประเทศไทย คือความร่วมมือกับโรงเรียนสาธิตวไลยอลงกรณ์สร้างนวัตกรรมขึ้นมา คือสอนเด็กให้คิดนวัตกรรมได้ 1,000 ชิ้น ดังนั้น พว.น่าจะเข้ามาพัฒนาอบรมครูและบุคลากรของโรงเรียนพระปริยัติธรรมได้เป็นอย่างดี
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมณย์ ประธานกรรมการ พว.กล่าวว่า ถือเป็นมิติใหม่ในการสร้างความเข้าใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งเราต้องรีบลงมือทำ ซึ่งการพัฒนาอบรมไม่ใช่เป็นการพูดเพียงอย่างเดียว แต่ พว.จะส่งทีมลงไป 9 ทีม เพื่ออบรมตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อให้ครูเห็นภาพของการเรียนการสอนแบบแอกทีฟเลิร์นนิง นำไปสู่การสร้างผลงานนวัตกรรม เมื่อทุกคนเอาผลมานำเสนอจะเห็นว่าผลที่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ต่างวิชาแต่เกิดจากกระบวนการเดียวกัน ดังนั้น องค์ความรู้ตรงนี้เมื่อสรุปออกมาเป็นหลักการก็ออกมาเป็นหลักการเดียวกัน จะเรียนยังไงก็ได้หลักการเดียวกัน ซึ่งถือว่าวันนี้เป็นมิติใหม่ของโรงเรียนปริยัติธรรมที่จะต้องลงไปสร้างความเข้าใจกับการเรียนการสอนแบบแอกทีฟเลิร์นนิง ซึ่งตรงกับหลักการสอนของ พระพุทธศาสนา ที่ค่อนข้างเยอะ แต่การแปลไปสู่การปฏิบัติการเรียนรู้ในเชิงวิชาการจะต้องทำความเข้าใจ คือ ผู้เรียนต้องบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้เหมือนกัน สามารถแยกประเภทได้