ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ จับมือ ม.ศิลปากร-พว พัฒนาห้องเรียน GPAS 5 Steps Active Learning ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ต้นแบบโรงเรียนในท้องถิ่น ให้เด็กคิด-ลงมือปฏิบัติ
วันนี้ (28 ม.ค.) ที่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการจัดแสดงผลงาน จากโครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาระหว่าง มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) โครงการวิจัย “การพัฒนาโรงเรียนสาธิตให้เป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติการและการวิจัยเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนในท้องถิ่น” ใช้ “ห้องเรียน GPAS 5 Steps Active Learning” ขับเคลื่อนการพัฒนา โดยมี นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เป็นประธานเปิดงานฯ กล่าวว่า ปัจจุบันหลักสูตรของไทยเนื้อหาส่วนใหญ่ยังเป็น Passive Learning ที่ผลิตคนเพื่อป้อนระบบราชการ แต่ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้เราต้องการผลิตคน ให้เป็นคนที่ลงมือปฏิบัติ สามารถทำด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความรู้ที่รอบด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในยุคนี้ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนให้เป็น Active Learning ดังนั้น เมื่อเด็กผ่านกระบวนการนี้แล้ว ก่อนจะทำอะไรหรือคิดผลิตชิ้นงานแต่ละชิ้น เขาจะต้องศึกษาอย่างรอบด้านแล้วลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทำตามที่ครูบอก ซึ่งกระบวนการนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเกิดนวัตกรรม
ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ หรือ พว. กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ เป็นการพลิกการเรียนรู้ที่ไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้สร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งกลับมามีศักยภาพในการผลิตองค์ความรู้ในระดับนวัตกรรมได้ทุกศาสตร์ ทั้งด้าน ศิลปะ ดนตรี ภาษา วิทยาศาสตร์ สังคม คณิตศาสตร์ สุขศึกษา พลศึกษา และการงานอาชีพ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาพหุปัญญา หรือ ตามความถนัดของผู้เรียนที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 จ (4) ได้ชัดเจน ตรงเป้าหมาย เป็นรูปธรรม ที่สำคัญเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้น ผู้เรียนทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้เต็มศักยภาพด้วย
“การวิจัยครั้งนี้ไม่ได้พัฒนาเพียงโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ฯ เท่านั้น แต่ได้ขยายผลไปพัฒนาโรงเรียนในเครือข่ายของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ฯ เช่นโรงเรียนในจังหวัดสระแก้ว จำนวน 48 โรง จังหวัดปทุมธานี 20 โรง คาดส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กระบวนการการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้เรียนสามารถสร้างนวัตกรรมร้อยละ 80 ของโรงเรียนเครือข่าย รวมจำนวนกว่า 1,000 นวัตกรรม นับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม เพราะเป็นต้นแบบของการลงทุนน้อยและ ใช้เวลาไม่นาน คือ เพียง 2 ปีในการวิจัย แต่สามารถสร้างนวัตกรรมได้มากมาย ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่เน้นการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ทั้งนี้เชื่อมั่นว่า การพัฒนาพหุปัญญารูปแบบดังกล่าวจะสามารถนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสถานศึกษาอื่น ๆ ได้ ซึ่ง พว.มีความพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการสร้างนวัตกรรมต่อไป” ดร.ศักดิ์สิน กล่าว
ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โลกยุคปัจจุบันจำเป็นต้องปรับตัวค่อนข้างมาก มหาวิทยาลัยและโรงเรียนสาธิต จึงได้พัฒนาครูให้สามารถออกแบบการเรียนการสอนที่จะสร้างทักษะให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนมากกว่าที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็ก การเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการปฏิบัติจริงจึงเป็นวิธีการที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ เพราะผู้เรียนต้องร่วมกันคิด วิเคราะห์และลงมือปฏิบัติ เพื่อค้นหาคำตอบหรือองค์ความรู้เพื่อการแก้โจทย์ร่วมกัน Active Learning จึงเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในทศวรรษหน้า
“ชาวราชภัฏ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้เห็นคำตอบชัดเจนแล้วว่า กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning สามารถทำให้ผู้เรียนมีความสุข ที่สำคัญสามารถนำทักษะความรู้ไปแก้ปัญหาได้จริง อีกทั้งพร้อมออกไปแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ด้วย”ผศ.ดร.สุพจน์ กล่าว