xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ติงตัดงบ กสศ. ชี้ลงทุน 1 บาท ได้คืน 7 บาท เกิดประโยชน์ ลดเหลื่อมการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ว.หนุน กสศ.ทำงานช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ติงคนตัดงบประมาณไม่เหมาะสม ยันเกิดประโยชน์ลงทุนแค่ 1 บาทวันนี้ จะได้เงิน 7 บาทในอนาคตและช่วยลดภาระรัฐบาลหลายด้าน ผจก.กสศ.ระบุช่วยเด็กตรงจุดผ่านวิธีใหม่ ไม่ซับซ้อนกับหน่วยงานอื่น บูรณางานร่วมกับทุกส่วนทั้ง ศธ.มท.คลัง เพื่อให้งบประมาณลงไปถึงเด็กอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณารายงานประจำปี 2561 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสมาชิกวุฒิสภาได้ให้ข้อเสนอว่ากสศ.ควรมีการบูรณาการด้านข้อมูลและการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม และสร้างข้อมูลพื้นฐานเพื่อการทำงานในอนาคตโดยเฉพาะการตรวจสอบความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือด้านการศึกษาและควรมีการบริหารงบประมาณอย่างคุ้มค่าโดยจัดรายได้เพิ่มเติมตามช่องทางที่กฎหมายกำหนด และควรมีการติดตามกลุ่มเป้าหมายและประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะ ทั้งนี้ได้มีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนอภิปรายถึงการถูกตัดลดงบประมาณของกสศ. ว่าจะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้จริง พร้อมเรียกร้องรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสอมภาคทางการศึกษาไม่ใช่กองทุนที่ทำงานเป็นปกติเหมือนราชการ เป็นกองทุนเดียวที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ เพราะการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่หน่วยงานของรัฐจะไปทำให้โอกาสนี้ลดน้อยลง ในครั้งแรกก็เข้าใจข้อจำกัดเรื่องงบประมาณนี้ว่าอาจจะจัดสรรไม่ได้ถึง 25,000 ล้านบาท แต่ถ้าคำนวณ25,000 ล้านต่อปี ดูแลเด็กและเยาวชนที่เลือกเกิดไม่ได้ 4 ล้านคน คำนวณตกเดือนละไม่เกิน 600 บาท  เป็นปัญหามากมายมหาศาลทุกขั้นตอน ปี 2563 เรายังจัดสรรเงินที่ 5,000 ล้าน จาก25,000 ล้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดเหลือ 3,000 ล้าน หน่วยงานที่ตัดงบประมาณ คือหน่วยงานไหน มีเหตุผลอะไร มีความคิดอะไร  เรื่องไหนสำคัญกว่ากัน  สาธารณะน่าจะมีส่วนร่วมรับทราบเรื่องนี้ การช่วยคนยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่มีเงินมีอำนาจจะทำสำเร็จ ผมเห็นว่า กสศ. ได้ถูกออกแบบ ผ่านการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์เป็นระบบ ด้วยงานวิจัยจากต่างประเทศ มีความเชื่อว่าการจัดงบประมาณลักษณะนี้จะทำให้เข้าถึงโอกาส ทำให้ทุกคนเสมอภาคกัน แต่พอเริ่มช่วยได้ไม่กี่แสน

“ผมไม่โทษกองทุนฯเพราะเงินได้มาแค่นี้ กองทุนต้องทำงานหนัก อย่าท้อถอย เร่งทำงานให้สังคมเห็นความสำคัญ เพราะลงทุน 1 บาทวันนี้ จะได้เงิน 7 บาทในอนาคต เพราะคนเหล่านี้ไม่เป็นภาระ วัยแรงงาน ซึ่งลดจำนวนเงินช่วยเหลือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโตไปเป็นผู้สูงอายุที่พึ่งพาตัวเองได้ คนเหล่านี้พัฒนาศักยภาพ เป็นแรงงานฝีมือเสียภาษีให้รัฐ รัฐก็ลดเงินกู้มาโปะงบประมาณ สามารถสร้างการแข่งขันระดับประเทศ คนเหล่านี้จะเคลื่อนทัพมาเรื่อยๆ กสศ.ต้องช่วยตัวเองในการทำให้สาธารณะข้าใจเรื่องนี้ ต้องร่วมกันสนับสนุน ทำงานใช้เงินคุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อน” นพ.เฉลิมชัย ระบุ


นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า การเกิดของกสศ.จะเป็นคานงัดการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ แต่วันนี้สิ่งที่หวังว่าจะเป็นคานงัด น่าจะงัดได้น้อยมาก เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าเกิดกองทุนแล้วต้องวิ่งหาเงินเองก็คงไม่ไหว รัฐบาลต้องเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ต้องลดความเหลื่อมล้ำช่วยคนเล็กคนน้อยในสังคม ยกตัวอย่าง กรณีโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นของกสศ. เป็นโครงการเล็กมาก ทั้งที่โครงการแบบนี้เป็นจุดคานงัดที่สำคัญ  แต่ดูจากโครงการแล้วเฉลี่ยได้ครูปีละ 300 คน 5 ปี 1,500 คน ถือว่าปริมาณน้อยมาก เราต้องการทั่วประเทศมากกว่านี้  เรื่องนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เราต้องให้โอกาสคนยากจน ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาให้มากที่สุด  อยากให้มองให้ใหญ่ ขยายผลเห็นหน้าเห็นหลัง

นายตวง อันทะไชย  สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ดีใจที่มีส่วนเริ่มต้นในการออกแบบกองทุนนี้ ซึ่งเคยคิดว่าจะเป็นกองทุนที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้ เพราะจะสามารถโน้มตัวเองถึงคนยากจน ตอนเขียนร่างกฎหมายนี้ ห่วงเรื่องนี้มากว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ กสศ.คิดใหญ่แต่ไม่ควรใช้วิธีเดิม โดยเฉพาะใช้ฐานข้อมูลจาก สพฐ. จะไปไม่ถึงเป้าหมายใหม่ กลายเป็นหว่านแห และไม่เห็นด้วยกับโครงการแนวถอดบทเรียนที่ออกมาเป็นคู่มือ ควรทำโครงการสร้างอาชีพ มีรายได้ มีงานทำ

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นการดำเนินการได้จัดระบบฐานข้อมูลให้สมบูรณ์ ออกระเบียบข้อบังคับให้ระบบงาน กสศ.น่าเชื่อถือ โปร่งใสมากที่สุดเท่าที่ทำได้  กสศ.เป็นองค์กรขนาดเล็กมีบุคลากรเพียง 50 คน เน้นแนวทางการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีอยู่แล้วเป็นหลัก กสศ.เป็นแนวหนุนมากกว่าจะไปดูแลเยาวชนด้วยตัวเอง ซึ่งได้รับความร่วมมือย่างดี ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เป็นกำลังสำคัญทำให้งบประมาณไปถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างดี ทั้งนี้ที่ผ่านมา กสศ.มีระบบติดตามผลลัพธ์นักเรียนที่ได้รับทุนเสมอภาค โดยจากการติดตามพบว่าทำให้เด็กไม่ขาดเรียน มาเรียนได้ถึงร้อยละ 98 อีกทั้งมีฐานข้อมูลตามดูผลการเรียนรายบุคคล เมื่อได้รับทุนจาก กสศ.แล้วผลการเรียนก้าวหน้าอย่างไร


นพ.สุภกร กล่าวว่า เรื่องฐานข้อมูลถือเป็นการลงทุนที่ช่วยเหลือประชาชน มีการแชร์ฐานข้อมูลกับกระทรวงการคลังอยู่ ซึ่งกระทรวงการคลังมั่นใจฐานข้อมูลกสศ. ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 2 ล้านคน ลงลึกข้อมูลเชิงประจักษ์  ใช้ประโยชน์ได้ทั้งการวิเคราะห์นโยบายระดับชาติ  วิเคราห์ระดับโรงเรียน นักเรียนคนไหน เข้าเรียนน้อย มาก มีความสม่ำเสมอหรือไม่  ในส่วนความซ้ำซ้อน  เมื่อมีฐานข้อมูลที่ดีก็มั่นใจได้ว่า ปัญหาการให้ทุนซ้ำซ้อนจะลดลงไป เป็นฐานข้อมูลระยะยาว ที่สามารถใช้ร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อลดปัญหาป้องกันการซ้ำซ้อน ปัญหานักเรียนยากจนด้อยโอกาสมีปัญหาหลายด้าน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการศึกษา กสศ.จะบูรณาการข้อมูลร่วมกับกระทรวงต่างๆ เช่น สธ. มท. พม. อบจ. สามารถเห็นกลุ่มเป้าหมายคนเดียวกันได้ หน่วยงานไหนมีหน้าที่อย่างไร ก็สามารถดูแลกลุ่มเป้าหมายคนเดียวกันในหลายๆมิติ ในลักษณะ บูรณาการด้วยกัน กสศ.จะค่อยๆขยายงานไป บนความพร้อมฐานข้อมูล เพราะถ้าให้งบประมาณโดยไม่มีฐานข้อมูลยืนยัน จะมีปํญหาเรื่องความซ้ำซ้อน  ฐานข้อมูลนี้จะดูแลต่อเนื่องระยะยาว ไม่ว่าเด็กจะย้ายไปเรียนต่อสังกัดไหน

“คำถามที่ว่ากสศ.จะทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ขอตอบโดยหลักการของคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาที่ระบุว่า ถ้ามีการลงทุนเพียงพอ ถูกทางคือดีมานด์ไซส์ เน้นฝั่งผู้เรียนเป็นหลัก งบประมาณเจาะเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่จัดงบทั่วไป ภายในเวลา 10 ปี จะพาประเทศไทยออกจากสภาพความเหลื่อมล้ำตรงนี้ได้ ซึ่งงบประมาณ 25,000 ล้านบาท บอร์ดกสศ.เคยอภิปรายว่าอาจไปอยู่ตามหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องได้ แต่ต้องมีเงื่อนไข กระจายงบไปฝั่งดีมานด์ไซส์และการเจาะไปที่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีงบประมาณเพียงพอ มีพื้นฐานทางวิชาการยืนหยัดประสิทธิภาพ ก็เชื่อว่าทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงภายในเวลา 10 ปี” นพ.สุภกร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น