“ไทยชนะ” เตรียมอัปเดตแอปพลิเคชัน เปิดให้เช็กอินกลุ่มได้รวม 4 คน ตอบโจทย์มาเป็นกลุ่มเป็นครอบครัว แต่บางคนไม่มีโทรศัพท์ให้เช็กอิน เล็งพัฒนาจองคิวเข้าสถานที่ท่องเที่ยว อุทยานในอนาคต ช่วยรู้จำนวนความแออัดก่อนไป ศบค.ย้ำ ระบบเก็บข้อมูลปลอดภัยกว่าลงทะเบียนผ่านสมุดหน้าร้าน ย้ำผ่าน คกก.แล้วแอปพลิเคชันไม่ละเมิดสิทธิ-กฎหมายใดๆ
วันนี้ (17 มิ.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีคนมองการเช็กอินเช็กเอาต์ “ไทยชนะ” มีความยุ่งยากและตั้งคำถามถึงความปลอดภัย ว่า หลายคนมองว่าต้องเช็กอิน “ไทยชนะ” หลายครั้ง น่าเบื่อ ต้องเข้าออกหลายที่ ไม่เห็นมีประโยชน์ ซึ่งตอนยังไม่ติดเชื้ออาจยังไม่เห็นประโยชน์ แต่เมื่อไรที่ติดเชื้อจะเกิดประโยชน์มาก อย่างจีนที่ติดเชื้อในตลาด มีรายงานว่า ต้องเอาเข้ามาตรวจแยกถึง 4 หมื่นคน ต้องใช้ทรัพยากรเท่าไร ถ้ามีแอปพลิเคชันตรงนี้ ไปไหนมาไหนจะได้รู้และช่วยได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีกิจการร้านค้าลงทะเบียน 1.9 แสนกว่าร้าน คนดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพียง 3.3 แสนกว่าคน ซึ่งถือว่าไม่เยอะ ทั้งนี้ เรามีร้านค้าประมาณการเป็นล้านร้าน เราเปิดกิจการเกือบหมดแล้วในเฟส 4 ยังยกเว้นผับบาร์ สถานบันเทิง จึงต้องฝากให้ช่วยกัน สำหรับการตรวจร้านค้า จำนวน 1.63 แสนร้าน พบว่า มีแพลตฟอร์มไทยชนะเพียง 9.7 หมื่นร้าน หรือประมาณ 55% ไม่มีแพลตฟอร์มไทยชนะ 7.86 หมื่นร้าน คิดเป็น 45%
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับวัดและศาสนสถานนั้น หากย้อนดูกรณีซูเปอร์สเปรดเดอร์ที่เกาหลีใต้ก็เกิดจากศาสนสถาน หรือกรณีไปศาสนกิจที่อินโดนีเซียก็มีการติดเชื้อกลับมาจำนวนมาก แม้ประเทศไทยจะเป็นเมืองพุทธ ที่วัฒนธรรมเป็นการไหว้ และมีการใส่หน้ากากนั้น หากมีการลงทะเบียนไทยชนะด้วยก็จะเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือศาสนสถานต่างๆ ถ้ามีไทยชนะด้วยก็จะดี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องของความปลอดภัย หากเป็นการลงทะเบียนชื่อและเบอร์โทร.แบบจดลงสมุด คนที่มาเข้ารับบริการถัดไปก็สามารถดูรายชื่อเบอร์ และถ่ายไปเก็บได้ ถามว่าแบบนี้ปลอดภัยหรือไม่ ใครเป็นคนดูแลความปลอดภัย แต่หากเป็นการลงทะเบียนในไทยชนะ ร้านไม่ต้องเก็บข้อมูลตรงนี้ ข้อมูลไปอยู่ที่กรมควบคุมโรค เมื่อเกิดการติดเชื้อ ร้านไม่ต้องมารับผิดชอบหรือดูรายชื่อ เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรคตามหาคน ที่สำคัญ แอปพลิเคชันก่อนเกิดขึ้นมาได้ผ่านคณะกรรมการมาตรฐานความปลอดภัยข้อมูลขั้นต่ำ กลั่นกรองแล้วว่าแอปพลิเคชันนี้ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและกฎหมายใดๆ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจะพัฒนาแอปพลิเคชันให้เช้กอินเป็นกรุ๊ปได้ และพัฒนาให้จองตั๋วเข้าไปบางสถานที่ เช่น สวนสัตว์ หรือขึ้นรถทัวร์ รวมถึงจะออกเป็นหมายเลขประจำตัว เอาไว้ส่งเสริมการขาย ส่วนร้านค้าจะได้เรื่องเรตติ้ง เช่น ได้ 3 ดาว 4 ดาว 5 ดาว คนจะเห็นเรตติ้งตรงนี้
ด้าน นพ.พลวรรธน์ วิทูลกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ร้านค้าจะเก็บข้อมูลผู้เข้าบริการหากเป็นสมุดจด ต้องระวัง 4 เรื่อง คือ 1. ใช้เพื่อสอบสวนโรคเท่านั้น ดังนั้น ใครแอบมาจดไปทำอย่างอื่น น่าจะผิดกฎหมาย ส่วนจะผิดแบบไหนขึ้นกับว่าเอาไปใช้ทำอะไร 2. ห้ามนำไปใช้ทำการอื่นเด็ดขาด 3. ร้านค้าต้องเก็บเอกสารให้ปลอดภัย หากเกิดกรณีมีการติดเชื้อ ต้องเอาเอกสารมาให้ดูได้ 60 วันที่เก็บย้อนหลังให้ใครลงชื่อไปบ้าง 4. เมื่อครบกำหนด 60 วันร้านค้าต้องทำลายไม่ให้ใช้งานได้อีก ไม่ใช่โยนทิ้งหรือซุกไว้
นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า ผู้ใช้งานระบบไทยชนะอยู่ที่ 27 ล้านคน จำนวนกิจการรวม 1.97 แสนร้าน ลงทะเบียนแอปพลิเคชันทั้งระบบไอโอเอสและแอนดรอย์ 3.33 แสนคน สัดส่วนเช็กอิน เช็กเอาต์ ผ่านแฟลตฟอร์มอยู่ที่ 51% แต่หากเป็นแอปพลิเคชันสูงถึง 92% ทั้งนี้ มีความเป็นห่วง 6 กิจการที่การ์ดเริ่มตก คือ 1. ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม-ภัตตาคาร 2. ร้านค้าปลีก 3. ห้างสรรพสินค้า 4. จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 5. ซูเปอร์มาร์เก็ต และ 6. ตลาด ที่คะแนนเรื่องการทำความสะอาด และการเว้นระยะห่าง ประชาชนประเมินว่ายังทำได้ไม่ค่อยดี จะต้องเข้าไปตรวจประเมิน
นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า แอปพลิเคชันไทยชนะจะมีการอัปเดตในหลายๆ เรื่อง คือ 1. กรุ๊ปเช็กอิน ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาก่อนหน้านี้ คือ ไปกันหลายคน แต่บางคนในครอบครัวไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถใช้ฟังก์ชันนี้เช็กอินแทนได้อีก 3 คน เท่ากับจะเช็กอินครั้งหนึ่งได้ 4 คน โดยให้ใส่ชื่อว่าเช็กอินให้ใครในการเข้าร้าน ซึ่งคาดว่าจะวันนี้หรือพรุ่งนี้จะเปิดให้อัปเดต และกรุ๊ปเช็กเอาต์ 2. ฟังก์ชันเปิดจองเข้าสถานที่ เช่น ไปเที่ยวอุทยาน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่จำกัดจำนวนคน เมื่อค้นหาสถานที่จะไป จะทราบว่าสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้มีคนไปกี่คน โดยจะเพิ่มฟังก์ชันจองเข้าไปในอนาคต 3. การเพิ่มซีเรียลนัมเบอร์ โดยจากนี้เมื่อเช็กอินจะมีตัวเลขนี้ขึ้นมา ซึ่งจากระบบสร้างผู้ประกอบการสามารถนำเลขนี้ไปร่วมสนุก ส่งเสริมการใช้งานระบบ