ระดม “ศิลปิน” ทุกแขนงเป็นสื่อกลางต้านทุจริต ปลุกสำนึกคนไทย “โปร่งใส ไม่โกง” ชี้ดันวาระแห่งชาติ
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตนประชุมหารือความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ร่วมกับ พลเอก ธีระเดช ฉัตรเสถียรพงศ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต และ นายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยได้พิจารณาถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นปัญหาสำคัญของชาติที่สร้างความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน แม้ว่ารัฐบาลทุกยุค จะประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นวาระแห่งชาติ แต่ ปัญหาคอร์รัปชันก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลดน้อยลงได้ ทั้งยังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงต้องสร้างความร่วมมือเพื่อขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ
นางยุพา กล่าวว่า ส่วนช่องทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานและความร่วมมือในมิติวัฒนธรรม เห็นสมควร ให้จัดโครงการประกวด “การต่อต้านการทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน” ประจำปี 2563 ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าการแสดงพื้นบ้านสามารถสอดแทรกเนื้อหาสาระเรื่องราวต่างๆ ให้เข้าถึงประชาชนทุกภาคทุกระดับ เห็นตัวอย่างชัดเจน จากการที่ วธ. ได้จัดทำสื่อรณรงค์ ในช่วงสถานการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ประชาชน รับรู้ และ เข้าใจถึงโรคโควิด-19 รวมถึงการมาตรการต่างๆ ในการป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี ผ่านการแสดง ขับซอ แหล่ ลำตัด โนรา ดังนั้น จึงควรปลูกฝังค่านิยมเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชน เรื่องความโปร่งใส ต่อต้านทุจริต ทุกรูปแบบ ด้วยการประกวด คลิปวิดีโอการรณรงค์ต่อต้านทุจริต ผ่านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน โดยให้สอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านทุจริต ให้กับประชาชนในแต่ละภูมิภาค ผ่านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักเรียน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ตลอดจนนักศึกษาอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั่วประเทศ ได้ส่งผลงานเข้าคัดเลือก เปิดรับผลงานตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 ส.ค. นี้ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ [http://www.acf.or.th%20และ]www.acf.or.th และ www.trueplookpanya.com
“สำหรับผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย จะนำมาจัดทำเป็นสื่อประชาสัมพันธ์การต่อต้านทุจริตในทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ขณะเดียวกัน วธ. จะลงนามความร่วมมือ กับ มูลนิธิต่อต้านการทุจริต และ ป.ป.ช. ถึงการขับเคลื่อนคุณธรรม จริยธรรมในสังคมไทย เพื่อร่วมต่อต้านการทุจริต โดยใช้ศิลปวัฒนธรรม เข้ามามีส่วนเป็นเครื่องมือรณรงค์ทุกรูปแบบ เรามีทรัพยากรที่ทรงคุณค่า ทั้งศิลปินแห่งชาติ ศิลปินศิลปาธร ศิลปินพื้นบ้าน จะให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนต่อต้านทุจริต และมีการประสานงานกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ทั่วประเทศในการประชาสัมพันธ์ให้แพร่หลายในวงกว้าง เพื่อยกระดับความคิด ความประพฤติคนไทย ให้มีความโปร่งใส ไม่คดโกง เพื่อนำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” นางยุพา กล่าว