xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนการสอน ร.ร.กทม. มีทั้งเรียนปกติ-สลับวันมาเรียน ห้ามเกิน 20 คนต่อห้อง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษก กทม.เผยรูปแบบจัดการเรียนการสอน ร.ร.สังกัด กทม. หลังเปิดเทอม 1 ก.ค. ให้ ร.ร.ขนาดเล็กมาเรียนตามปกติ จัดไม่เกิน 20 คนต่อห้อง ร.ร.ขนาดกลาง สลับวันมาเรียน ส่วนวันที่ไม่ได้มาให้เรียนออนแอร์และออนไลน์ ส่วน ร.ร.ขนาดใหญ่ ให้อนุบาลและประถมต้นมาเรียนปกติ ส่วนชั้นอื่นสลับกันมาเรียน ย้ำต้องเหลื่อเวลาพัก ป้องกันแออัดในโรงอาหาร เข้าหน้าหน้าเสาธงหากเว้นระยะห่างได้ พื้นที่จำกัดให้เข้าแถวที่โต๊ะเรียน

วันนี้ (8 มิ.ย.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. ที่มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ว่า สำนักการศึกษา ได้รายงานการเตรียมความพร้อมแนวทางการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม. ซึ่งจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค. โดยแนวทางการจัดการเรียนการสอนมีดังนี้

1.โรงเรียนขนาดเล็กไม่เกิน 400 คน มีทั้งหมด 204 โรงเรียน จะจัดการเรียนการสอนตามปกติ โดยให้นักเรียนมาโรงเรียนทุกวัน และเรียนตามตารางเรียนในชั่วโมงหรือคาบเรียนปกติใน 1 ห้องเรียน มีจำนวนนักเรียน 20 คนโดยประมาณ และให้รักษาระยะห่างทั้งเวลาเรียน เวลาพัก และรับประทานอาหาร

2. โรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียน 401-800 คน จะจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน โดยสลับวันเรียนทั้งหมด เช่น อนุบาล ประถมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนต้น มาเรียนวันอังคาร วันพฤหัส ส่วนระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มาเรียนวันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ โดยช่วงที่ไม่ได้มาเรียนจะใช้วิธีการเรียนรู้ทางออนไลน์และออนแอร์เข้ามาทดแทน โดยให้ครูเข้ามาควบคุมดูแลในการจัดการเรียนรู้ และมอบแบบฝึกหัด การบ้าน ใบงานหรือกิจกรรมให้ไปทำที่บ้าน และให้นับเวลาการเรียนช่องทางดังกล่าวชดเชยการเรียนในช่วงเวลาปกติ

3. โรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียน 801-1,500 คน และขนาดใหญ่มาก คือนักเรียนมากกว่า 1,500 คน จะให้มาเรียนปกติ ร่วมกับสลับวันเรียนทั้งหมด คือ ระดับอนุบาล และระดับประถมศึกษาตอนต้น จัดการเรียนการสอนตามปกติ สำหรับระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาให้สลับวันมาเรียน


ทั้งนี้ ให้สถานศึกษาพิจารณาการจัดการเรียนการสอนตามความเหมาะสม โดยตั้งแต่วันที่ 1-20 มิ.ย. 63 สำนักการศึกษาจะได้ตรวจความพร้อมของโรงเรียนที่จะจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานอีกครั้ง

ส่วนของการวัดและประเมินผลระดับปฐมวัย จะใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรม การพูดคุย การซักถาม การตรวจสอบชิ้นงาน โดยครูจะประสานขอความร่วมมือผู้ปกครองร่วมประเมินพัฒนาการด้านต่างๆ ขณะที่ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ใช้การประเมินหลายรูปแบบ อาทิ การเข้าชั้นเรียน การสังเกตพฤติกรรม การประเมินผลงาน การสัมภาษณ์ พูดคุย ซักถาม การทำแบบทดสอบออนไลน์ การทดสอบด้วยข้อสอบแบบเขียนตอบหรือความเรียงแบบออนไลน์ เป็นต้น

สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ได้แก่ มาตรการดูแลระหว่างการเดินทางมาโรงเรียน กรณีเดินทางด้วยรถตู้โดยสาร ให้คนขับรถสวมใส่หน้ากากอนามัยและทำความสะอาดเบาะที่นั่งก่อนรับ-ส่งนักเรียนทุกครั้ง หรือหากผู้ปกครอง มาส่งนักเรียนที่โรงเรียน ต้องมีการจัดพื้นที่สำหรับผู้ปกครองบริเวณหน้าโรงเรียนและมีการคัดกรองอุณหภูมิทุกครั้ง

มาตรการสำหรับกิจกรรมหน้าเสาธง กรณีโรงเรียนขนาดเล็กและมีพื้นที่ สามารถให้นักเรียนร่วมกิจกรรมได้ปกติภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง กรณีมีพื้นที่จำกัด ให้นักเรียนเข้าแถวที่โต๊ะในห้องเรียน หรือเข้าแถวหน้าห้องเรียน

มาตรการในห้องเรียน ให้มีการจัดโต๊ะเรียนจำนวนไม่เกิน 20 ตัว โดยแต่ละตัวเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร ให้ทำความสะอาดห้องเรียน โต๊ะ เก้าอี้ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทั้งก่อนเรียน พักกลางวันและหลังเลิกเรียน สำหรับการนอนของนักเรียนปฐมวัย ให้งดการใช้เครื่องปรับอากาศ อาจใช้พัดลมแทน

มาตรการสำหรับการรับประทานอาหาร ให้โรงเรียนพิจารณาจัดที่รับประทานอาหารทั้งในห้องเรียนและโรงอาหาร และเหลื่อมเวลาตามบริบทและความพร้อมของโรงเรียน โดยในโรงอาหารต้องมีฉากพลาสติกใสกั้น และเว้นระยะนักเรียน แม่ครัว พนักงาน ต้องใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ

สำหรับการจัดการเรียนการสอนของเด็กพิเศษ(เรียนร่วม) ให้จัดการเรียนการสอนแบบปกติ นักเรียนสามารถมาเรียนได้ทุกวัน โดยมีการเว้นระยะห่าง และกำหนดสัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียน 6 คน ต่อ 1 ห้องเรียน


กำลังโหลดความคิดเห็น