พบผู้ป่วยโควิดรายใหม่ 2 ราย กลับมาจากรัสเซีย และ คูเวต ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,104 ราย ผู้ป่วยในสถานกักกันของรัฐรวม 167 ราย เจอจากคูเวตมากที่สุด ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ “หมอบุ๋ม” ย้ำไปท่องเที่ยวได้ แต่ขอเลี่ยงสถานที่คนแออัด อย่าลืมใส่มาสก์ ไปไหนมาไหนเช็กอินเช็กเอาต์ด้วย
วันนี้ (6 มิ.ย.) พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวประจำวัน ว่า วันนี้มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 2 ราย ไม่มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่มเติม และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมรวม 3,104 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย และติดเชื้อจากนอกประเทศโดยอยู่ในสถานกักกันของรัฐ 167 ราย กลับบ้านรวม 2,971 ราย เสียชีวิตรวม 58 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 75 ราย
พญ.พรรณประภา กล่าวว่า ผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 2 ราย มาจากต่าประเทศ อยู่ในสถานกักกันของรัฐ ทำให้การติดเชื้อในประเทศเป็น 0 ราย วันที่ 12 แล้ว โดยรายแรกกลับมาจากรัสเซีย เป็นนักศึกษาไทยอายุ 22 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 1 มิ.ย. เข้าพักสถานกักกันของรัฐ จ.ชลบุรี ผลตรวจยืนยันพบเชื้อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา เข้ารับการรักษาใน รพ. ใน จ.ชลบุรี และอีกรายคือ พนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศคูเวต กลับถึงไทยวันที่ 24 พ.ค. เข้าพักในสถานกักกันของรัฐใน กทม. ครั้งแรกตรวจไม่พบเชื้อ ตรวจพบเชื้อครั้งที่ 2 วันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา จึงส่งตัวรักษาต่อ โดยทั้งสองรายไม่มีอาการ ระยะหลังเจอผู้ป่วยไม่มีอาการมากขึ้นในสถานกักกันที่รัฐจัดให้
พญ.พรรณประภา กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่เจอในสถานกักกันของรัฐทั้งหมด 167 ราย สถิติอัตราการพบผู้ป่วยเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่กลับมาจากประเทศต้นทาง พบว่า คูเวตเจอผู้ป่วยมากที่สุด ตามด้วยซาอุดีอาระเบีย และอินโดนีเซีย ส่วนอาชีพปัจจัยเสี่ยงใน 2 สัปดาห์ล่าสุด ที่กลับมาจากต่างประเทศ เป็นนักเรียนนักศึกษามากที่สุด ตามด้วยรับจ้างทั่วไป พนักงานนวด และพนักงานโรงงาน/บริษัท
พญ.พรรณประภา กล่าวว่า สถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ป่วยสะสมรวม 6.84 ล้านคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 1.46 แสนราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 พันราย ส่งผลยอดเสียชีวิตรวม 398,146 ราย โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยมากที่สุดสะสมเกือบ 2 ล้านราย เป็นรายใหม่มากถึง 41,657 ราย ซึ่งจากเดิมจะอยู่ที่ 2 หมื่นปลายๆ ถึง 3 หมื่นราย แต่วันนี้กลับมาเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่อินเดียจำนวนผู้ป่วยขยับขึ้นจากอันดับ 7 มาเป็นอันดับ 6 ของโลกแล้ว ส่วนประเทศไทยคงที่ที่ 80 ของโลก
พญ.พรรณประภา กล่าวว่า สำหรับประเทศเกาหลีใต้ เจอผู้ป่วยยืนยัน 39 ราย แบบกลุ่มหรือคลัสเตอร์ โดยไม่แสดงอาการ ซึ่งเกาหลีใต้รายงานว่า 25-35% ของผู้ป่วยในประเทศ เป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ สอดคล้องกับประเทศไทยที่ระยะหลังเราก็พบผู้ป่วยไม่แสดงอาการในสถานกักกันของรัฐเช่นกัน ซึ่งการที่เราไม่ทราบว่าเราติดเชื้อ หรือไม่ทราบว่าคนอื่นติดเชื้อ การสวมหน้ากากทุกคนจะช่วยป้องกันเราไม่ให้ไปติดคนอื่น หรือป้องกันไปรับเชื้อจากคนอื่นมา
เมื่อถามถึงกรณีการไปสถานที่ต่างๆ ที่มีความหนาแน่น พญ.พรรณประภา กล่าวว่า จากการล็อกดาวน์ปิดกิจการ สถานที่ท่องเที่ยว จนสร้างความเครียดให้ประชาชน หลังมีการผ่อนคลายระยะที่ 1-3 มีกิจการและสถานที่ท่องเที่ยวเปิดให้บริการมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ดีจะได้ออกไปผ่อนคลาย คลายเครียด ครอบครัวได้ออกไปใช้เวลาร่วมกัน และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ที่มีแต่คนไทยกันเองช่วยกันได้ แต่ที่ต้องเน้นย้ำ คือ การออกไปท่องเที่ยวต้องคำนึงถึงผู้คนในพื้นที่ด้วย เวลาไปที่ท่องเที่ยวแล้วอยู่ในที่คนเยอะ อาจจะรู้สึกเครียด กลัวการติดเชื้อหรือไม่ สัมผัสใกล้ชิดหรือไม่ การเว้นระยะห่าง เลือกสานที่ท่องเที่ยวคนไม่แออัดมาก ไปในสถานที่คนยังไม่เยอะมาก หรือรอก่อนให้คนอื่นเที่ยวไป่อน ก็จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ หากไปจริงๆ คือ การสวมหน้ากาก งดการสัมผัสใบหน้า ล้างมือบ่อยๆ ลดไปสถานที่แออัด
เมื่อถามถึงกรณีการใช้แพลตฟอร์มไทยชนะที่ต้องหมั่นเช็กอินเช็กเอาต์ พญ.พรรณประภา กล่าวว่า ช่วงแรกอาจจะไม่คุ้นชิน ต้องถือมือถือไปสแกนตลอด แต่สิ่งที่จำเป็นคือการเช็กอินผ่านไทยชนะ เป็นสิ่งสำคัญตัวแอปฯ จะช่วยประเมินความหนาแน่นประชากรที่นั้นได้ จะได้รู้ว่าตำแหน่งนั้นมีผู้ใช้งานหนาแน่นหรือไม่ หากคนไปเยอะก็อาจยังไม่ไปหรือไปที่อื่นก่อน และเป็นตัวบอกว่าเราเข้าไปในพื้นที่เวลาไหน และหากมีการติดเชื้อที่ไปในช่วงเวลาเดียวกัน กรมควบคุมที่เก็บข้อมูล 60 วัน มีโอกาสติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดมาตรวจคัดกรองโรคและรักษาได้ทันท่วงที
ส่วนการเช็กเอาต์ หลายคนเช็กอิน แต่ลืมเช็กเอาต์ เพราะเมื่อเราเข้าไปแล้ว คนอื่นจะเห็นว่าพื้นที่หนาแน่น ถ้าไม่เช็กเอาต์เราจะอยู่ในร้านนั้นตลอก หนาแน่นตลอด ไม่เปิดให้คนอื่นเข้ามาใช้บริการ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีคนไปใช้นานได้มากขึ้น ได้จำนวนแท้จริง ช่วยกำหนดเวลา เราจะไม่รู้ว่าราใช้เวลาในร้านนานเท่าไร หากมีผู้ติดเชื้อมาหลังเราเช็กเอาต์ก็จะไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งบางทีอาจเจอหลังผ่านไป 7-10 วัน ซึ่งเราอาจจำไม่ได้ว่าเราไปไหนมาไหน อยู่นานเท่าไร จะเป็นตัวช่วยในการจดจำ