การเปิดเทอมของโรงเรียน ยังคงยืนยันเป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563 ส่วนโรงเรียนไหนที่มีความพร้อมจะเปิดก่อนหรือไม่นั้น ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลับไปทำการบ้านมาเสนออีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเปิดเทอมเมื่อไรก็ตาม การเปิดเทอมต้องมีความปลอดภัย เพราะโรงเรียนถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากเด็กมักมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในหมู่นักเรียนเอง หรือจากนักเรียนไปสู่ครู และนำเชื้อกลับไปแพร่ระบาดต่อภายในครอบครัว
มาตรการเปิดเทอมปลอดภัยของไทยควรเป็นอย่างไร กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ศธ. ได้มีการถอดบทเรียนจากต่างประเทศ ที่ควรนำมาปรับใช้ ที่น่าสนใจ มีดังนี้
- สวิตเซอร์แลนด์ รัฐบาลมีการประกาศล่วงหน้าให้เปิดเรียน มีการแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ จำนวนกลุ่มเด็กจะเล็กลง มีการทำความสะอาดมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง สุขอนามัยในโรงเรียนทั้งหมดต้องถูกทบทวน โดยเฉพาะเรื่องโรคระบบทางเดินหายใจของเด็กที่อาจป่วยได้ ช่วงเวลาพักต้องเหลื่อมเวลากัน เพื่อเว้นระยะห่างได้ ผู้ปกครองต้องหลีกเลี่ยงการรวมตัว มารวมกลุ่มที่โรงเรียนไม่ได้ รักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม
- เดนมาร์ก ค่อยๆ เปิดโรงเรียน เริ่มต้นจากเด็กเล็กก่อน เน้นการรักษาระยะห่าง จัดกลุ่มย่อย จำกัดจำนวนนักเรียน ให้ความรู้และติดตามประเมินผล
- จีน พบว่า แต่ละมณฑลเปิดเรียนไม่พร้อมกัน เริ่มจากเด็กโต มีการคัดกรองก่อนเข้าโรงเรียน สวมหน้ากาก แยกนักเรียน โดยรัฐกำกับติดตามประเมินผล
- ญี่ปุ่น เปิดเรียนตามสถานการณ์ เน้นเปิดในชั้นที่จำเป็นต้องมีการสอบเพื่อขึ้นชั้นเรียน หรือการเข้าสู่ระดับการศึกษาขั้นต่อไป เน้นจัดการเรียนกลุ่มเล็กๆ ใช้หลายห้อง คัดกรองก่อนเข้าเรียน สวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงกิจกรรมแบบกลุ่ม
- ฝรั่งเศส พบนักเรียนติดเชื้อโควิด 70 ราย เป็นเด็กเล็กในเนอร์สเซอรีและประถม หลังอนุญาตให้มีการเปิดเรียนบางส่วน
- เกาหลีใต้ พบนักเรียนติดเชื้อ 2 ราย จนเกิดการปิดโรงเรียน 66 แห่งอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเปิดเทอมแค่เพียงวันแรก
ขณะนี้ สธ.และ ศธ.ได้จัดทำคู่มือการเปิดภาคเรียนเพื่อควบคุมป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว ส่วนมาตรการเปิดเทอมอย่างปลอดภัยเป็นอย่างไรนั้น ไล่เรียงเป็นประเด็นได้ดังนี้
1. มาตรการหลักป้องกันโรคโควิด-19
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มาตรการหลักมี 6 มาตรการ คือ 1) คัดกรองวัดไข้ก่อนเข้าสถานศึกษา 2) การสวมหน้ากาก อาจมีปัญหาเด็กอึดอัดบ้าง ครูต้องหมั่นสังเกตเด็กว่ามีความอึดอัดหรือไม่ ผู้ปกครองต้องฝึกเด็กในการสวมหน้ากาก 3) การล้างมือบ่อยๆ ต้องเพิ่มการล้างมือในทุกช่วง ทั้งก่อนเข้าโรงเรียน ก่อนเข้าห้องเรียน หลังเข้าห้องน้ำ ก่อนกินอาหาร ก่อนและหลังแปรงฟัง ล้างมือเมื่อเปลี่ยนกิจกรรม เป็นต้น และเพิ่มจุดล้างมือให้มากขึ้น
4) การเว้นระยะห่าง จากการทดลองเปิดเรียนที่โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวช ที่มีนักเรียนประมาณ 1 พันคน เมื่อมีการเว้นระยะห่าง 1 เมตรภายในห้องเรียน ทำให้ห้องเรียนที่มีเด็กเฉลี่ย 40 คน เหลือ 20-25 คน แปลว่ามีเด็กอีกครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้ห้องเรียน จึงต้องออกแบบการเรียนการสอน เช่น จัดพื้นที่ชั่วคราวเพื่อเรียนคู่ขนาน หรือเรียนออนไลน์ หรือผลัดกันมาเรียน
5) การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมต่างๆ และพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน และ 6) การลดความแออัด ต้องมีการจัดกลุ่มนักเรียนให้หมุนเวียนไม่ให้ใช้งานพื้นที่ต่างๆ พร้อมกัน อย่างโรงอาหาร รวมถึงยกเลิกการแข่งขันที่มีการรวมตัวเด็ก เป็นต้น
2. การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน
พญ.พรรณพิมล ระบุว่า ให้โรงเรียนหรือคณะกรรมการสถานศึกษา ประเมินโรงเรียนตนเองใน 6 มาตรการหลักผ่าน Thai Stop COVID โดยกรมอนามัยจะวิเคราะห์จัดกลุ่มโรงเรียน เพื่อดูว่าความพร้อมในแต่ละด้าน และทำแผนส่งคืนไปที่ระดับจังหวัด เพื่อให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ใช้ข้อมูลร่วมกันในการออกแบบวางแผนดำเนินการ ซึ่งต้องพิจารณาพื้นที่ตั้งโรงเรียน สถานการณ์ระบาด ความพร้อมของโรงเรียน และทำเป็นแผนการเตรียมเปิดเรียนออกมา โดยโรงเรียนที่ควบคุมความเสี่ยงได้ดีก็เปิดเรียนได้
3. การเดินทางไปกลับโรงเรียน
พญ.พรรณพิมลกล่าวว่า ที่น่าสนใจมี 2 รูปแบบ คือ 1) เดินทางโดยรถโรงเรียน ต้องมีการลงทะเบียนรถและคนขับอย่างชัดเจน เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจ และทำความสะอาดรถทุกวันก่อนออกมารับเด็กแต่ละคน ในรถรับส่งต้องมีผู้ดูแลหลักที่ดูแลนักเรียน คนขับต้องประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ขับรถ ระหว่างโดยสารเด็กต้องเว้นระยะพอสมควร และสวมหน้ากากตลอด งดการเล่นสัมผัสกัน มีการล้างมือก่อนและหลังขึ้นลงรถ เมื่อก่อนเข้าโรงเรียนให้ตรวจคัดกรองอีกครั้ง และ 2) รถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างอยู่แล้ว ก็ต้องดำเนินการตาม และสวมหน้ากากตลอดเวลา
4. แนวปฏิบัติการจัดการของโรงเรียนที่มีหอพัก
แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ผู้ดูแลหอพัก ต้องตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายและสังเกตอาการเสี่ยง จัดที่ล้างมืออย่างเพียงพอ ทำความสะอาดพื้นที่ต่างๆ เน้นจุดสัมผัสร่วมกัน เช่น พื้นที่ส่วนกลาง สุขา กำหนดเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ทั้งห้องนอน ห้องอาหาร ห้องอ่านหนังสือ พื้นที่ส่วนกลาง ลดความแออัดการทำกิจกรรมร่วมกัน และเปิดประตูหน้าต่างห้องพักเป็นประจำทุกวัน เพื่อระบายอากาศและให้อากาศถ่ายเท
2) ผู้พักในหอพัก หมั่นสังเกตอาการตนเอง สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า แยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนส้อม แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าเช็ดหน้า ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือบ่อยๆ กลับมาถึงหอพักให้รีบอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที และเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ไม่ว่าจะเป็นการนั่งกินอาหาร หรือเล่นกับเพื่อน
3) การกำกับติดตาม ต้องมีการกำกับดูแลตรวจสอบการปฏิบัติตนให้เป็นสุขนิสัยกิจวัตร หากมีบริการอื่นๆ ในหอพัก เช่น ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม สถานที่รับประทานอาหาร ร้านเสริมสวย หรือกิจการอื่นๆ ให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติป้องกันโรคด้วย ส่วนมาตรการอื่นให้เป็นไปตามระเบียบของหอพัก ให้มีลักษณะเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ สามารถติดตามสอบสวนโรคได้ เช่น กิจกรรมรวมตัวสังสรรค์ การกำหนดให้บุคคลภายนอกเข้าพัก หรือผู้มาติดต่ออื่นๆ มีการลงทะเบียนเพื่อติดตามตรวจสอบกรณีพบผู้ป่วยสงสัย
5. การควบคุมเมื่อเจอผู้ป่วยโควิดในโรงเรียน
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า หากพบเจอผู้ป่วยสงสัยหรือมีอาการสงสัย ให้แจ้งสาธารณสุขทันที และหากพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ก็ต้องมีการสอบสวนโรคให้ชัดเจนว่า เป็นการติดเชื้อภายในโรงเรียน หรือเกิดจากการติดเชื้อภายนอกโรงเรียนหรือภายในชุมชน ซึ่งยิ่งได้ข้อมูลจากผู้ป่วย เด็ก ผู้ปกครอง หรือครู ยิ่งชัดเจนยิ่งละเอียดเท่าไร ก็จะพิจารณามาตรการการดำเนินการต่อจากนี้ได้ โดยเฉพาะเรื่องของการปิดเรียน ซึ่งสเต็ปการปิดเรียน เรามีประสบการณ์ในส่วนของโรคไข้หวัดใหญ่และโรคมือ เท้า ปาก อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปิดห้องเรียนที่มีผู้ป่วย การปิดชั้นเรียน การปิดอาคารเรียน ไปจนถึงการปิดทั้งโรงเรียน
"หากผลการสอบสวนโรคมีความชัดเจน เช่น เด็กป่วยโควิด รู้ที่มาที่ไปชัด ไม่มีการสัมผัสนักเรียนในชั้นอื่น ก็อาจพิจารณาปิดแค่ห้องเรียนหรือชั้นเรียน โดยที่ไม่ต้องปิดโรงเรียนก็ได้ ทั้งหมดขึ้นกับการสอบสวนโรค อย่างไรก็ตาม สเต็ปการปิดเรียนจะมีการปรึกษาหารือระหว่าง สธ.และศธ.อีก ซึ่งยังมีเวลาก่อนเปิดเทอมช่วง 1 ก.ค." นพ.อนุพงศ์กล่าวและว่า ต้องสำรวจเด็กชั้นอื่นด้วยว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเสี่ยงต่ำด้วยหรือไม่ เพราะบางครั้งเด็กอาจเล่นกันข้ามวัยได้
6. การทำความสะอาดโรงเรียน
นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า เมื่อมีนักเรียนป่วยโควิด ต้องมีการทำความสะอาด ทั้งในห้องเรียนนั้น พื้นที่ส่วนกลาง เช่น สุขา โรงอาหาร สถานที่เด็กไปล้างมือ เป็นต้น สำหรับการทำความสะอาดทั่วไปของโรงเรียนนั้น แนะนำว่า ต้องทำความสะอาดพื้นและพื้นผิวต่างๆ ทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โเยเฉพาะจุดสัมผัสร่วม เช่น ราวบันได โต๊ะอาหาร อุปกรณ์กีฬา ที่จับประตู หน้าต่าง ของเล่น เครื่องช่วยสอน อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาซักผ้าขาวผสมในอัตราส่วน 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 20 ส่วน สำหรับเช็ดพื้นผิว หรือแอลกอฮอล์ 70% สำหรับเช็ดอุปกรณ์ต่างๆ
การทำความสะอาดห้องสุขา ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาซักผ้าขาวผสมในอัตราส่วน 1 ส่วนต่อน้ำสะอาด 10 ส่วนอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ขณะที่การกำจัดขยะต้องทำถูกวิธีทุกวัน คือ การผูกปากถุงให้มิดชิด เน้นย้ำให้นักการภารโรงที่เก็บขยะใส่หน้ากากอนามัย เฟซชีลด์ และถุงมือยาว