xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดล ต่อยอดหลักสูตรชีววิทยานานาชาติ สู่การผลิตแพทย์ระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในโลกยุคดิสรัปชัน บัณฑิตซึ่งเป็นที่ต้องการจะต้องมีทักษะสำหรับโลกในศตวรรษ 21 มีความรู้กว้างขวางและลึกในวิชาชีพที่ตัวเองถนัด สู่การเป็นมืออาชีพระดับโลก (Global Professional)

ในการเป็นมืออาชีพระดับโลก จำเป็นต้องอาศัยความรู้ที่หลากหลายและครอบคลุม
Liberal Arts Education หรือ ศิลปวิทยาศึกษา เป็นแบบอย่างของปรัชญาการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นให้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ครอบคลุม และผสมผสานแขนงวิชาที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตที่มีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น

ขณะเดียวกัน ความเป็นผู้รู้กว้างและลึกนี้เอง จะทำให้มีความเท่าทันจนสามารถเติบโต และพัฒนาไปกับโลกที่ผันผวน ด้วยความตระหนักในตัวเอง พร้อมกับเข้าใจในผู้อื่น และสรรพสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของสังคม ทำคนให้เป็น “มนุษย์” ที่สมบูรณ์

เนื่องจาก Liberal Arts Education เป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการที่จัดให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าถึงวิชาที่เป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ จึงพบว่าในหลายประเทศที่เป็นผู้นำทางการศึกษา บัณฑิตที่เรียนจบ Liberal Arts สามารถศึกษาต่อยอด และแตกแขนงได้อีกหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และวิทยาศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์ประยุกต์อื่นๆ

รศ.พญ.จุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์” มีไว้เพื่อให้มนุษย์เข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ตลอดจนปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ในขณะที่ “ศิลปะ” มีไว้เพื่อให้มนุษย์เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น เพื่อการผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิสรัปชัน MUIC จึงได้จัดการเรียนสอนแบบ Liberal Arts ที่เป็น “ศิลปวิทยาศาสตร์” จากการผสมผสานวิทยาศาสตร์กับศิลปะ เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีความตระหนักในตัวเอง สามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบของตนได้เต็มตามศักยภาพที่มี (The Best Version of Me) ในทุกบริบทของโลก และสังคมที่เปลี่ยนแปลง

“การเรียนการสอนแบบศิลปวิทยาศาสตร์ที่เป็นปรัชญาการจัดการศึกษาของ MUIC ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการประสบการณ์การศึกษาที่ครอบคลุม มีมุมมองที่กว้างไกล และเป็นสากล โดยปัจจุบัน MUIC มีการจัดการเรียนการสอนในหลากหลายสาขา ได้แก่ ธุรกิจระหว่างประเทศ การตลาด การต่างประเทศนิเทศศาสตร์ ศิลปการสื่อสาร วัฒนธรรมและภาษา การท่องเที่ยววิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และชีววิทยา”

“โดยในสาขาชีววิทยา นักศึกษา MUIC สามารถเลือกเรียนลงลึกได้อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสุขภาวะ (Wellness) นิเวศวิทยา (Ecology) และที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ ชีวการแพทย์ (Biomedical Science) ซึ่งเป็นหลักสูตรพื้นฐานสู่การเรียนแพทย์ในแบบหลังปริญญา (Graduate-Entry) อันเป็นรูปแบบหลักในการจัดหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา"

อย่างไรก็ตาม การรับบุคคลเข้าเรียนแพทย์หลังปริญญาตรีนี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตแพทย์ที่มีความเป็นมืออาชีพ พร้อมเป็นบัณฑิตที่มีความสามารถในการสื่อสาร ใช้ความรู้และประสบการณ์ในการเรียนระดับปริญญาตรีในการเสริมสร้างงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมทางการแพทย์ให้แก่องค์กรอีกด้วย

MUIC เป็นต้นทางในการผลิตบัณฑิตแพทย์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จ (St.George's University - SGU) มหาวิทยาลัยการแพทย์นานาชาติในเกาะแคริบเบียนของประเทศเกรเนดา โดยบัณฑิตสาขาชีววิทยาสามารถจะไปเรียนต่อแพทย์อีก 4 ปี และมีโอกาสฝึกงานเป็นแพทย์ประจำบ้าน (Residency Training) ต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักรได้

ในปัจจุบันมีนักศึกษา MUIC ที่เป็นแพทย์ฝึกหัดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร ผ่านแนวทางดังกล่าวแล้วกว่า 10 คน และได้รับทุนการศึกษาจาก SGU รวมเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ ศิษย์เก่า MUIC ยังสามารถเข้าศึกษาต่อโรงเรียนแพทย์ชั้นนำได้ทั่วโลกอาทิ Duke NUS School of Medicine ที่ประเทศสิงคโปร์ และ Monash University School of Medicine ที่ประเทศออสเตรเลีย อีกด้วย

และล่าสุด จากการที่ MUIC ประสบความสำเร็จในการผลิตบัณฑิตที่สามารถเข้าเรียนต่อแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ระดับนานาชาติเหล่านี้ได้อย่างไร้รอยต่อ จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ (Macquarie University) ประเทศออสเตรเลีย ผลิตบัณฑิตในลักษณะเดียวกัน ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณสมบัติตามกำหนดจะสามารถเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ ได้

“ฉันไม่ได้ต้องการให้เธอเป็นเพียงหมออย่างเดียวเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย” พระราชดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ “สมเด็จพระราชบิดา” ของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ได้พิสูจน์แล้วว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันที่ผลิตแพทย์คุณภาพเพื่อมวลมนุษยชาติมาตลอด 51 ปีแห่งวันพระราชทานนาม และ 132 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล”

“การผลิตบัณฑิตผ่านการเรียนการสอนแบบศิลปวิทยาศาสตร์ จากสาขาชีววิทยา (Biological Science) ของ MUIC นี้ ถือเป็นกำลังสำคัญอีกส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ที่ช่วยต่อยอดให้บัณฑิตไปสู่ฝั่งฝันของการเป็นแพทย์ระดับ World Class ได้อย่างภาคภูมิ เต็มศักยภาพของตัวเองในทุกๆ ด้าน และเป็นอีกหนึ่งใน “Best Version of Me” ของความเป็นศิษย์เก่า MUIC” รศ.พญ.จุฬธิดา กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น