อภ.เผยผลทดสอบ “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” ที่ผลิตเอง พบกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี มีความปลอดภัยในช่วง 28 วัน เตรียมติดตามให้ครบ 1 ปี ในช่วง ส.ค.นี้ คาดขึ้นทะเบียนกับ อย.ได้ปลายปี 63 พร้อมผลิตล็อตแรก 1 แสนโดส ระบุไทยผลิตเองได้ ช่วยลดนำเข้าวัคซีนปีละ 400 ล้านบาท พร้อมพัฒนาวัคซีนหวัดใหญ่แบบ 4 สายพันธุ์ และวัคซีนไข้หวัดนก
วันนี้ (29 พ.ค.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย 3 สายพันธุ์ โดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ที่โรงงานผลิต วัคซีน จ.สระบุรี ว่า จากการร่วมกับ รพ.นครพนม นำวัคซีนไปทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ตั้งแต่ ส.ค. 2562 ในอาสาสมัครสุขภาพดี จำนวน 4,284 ราย อายุ 18-64 ปี ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พ.ค. มีข้อสรุปความคืบหน้า ว่า จากการติดตามความปลอดภัยของอาสาสมัครหลังให้วัคซีนเป็นเวลา 28 วัน พบว่า วัคซีนมีความปลอดภัย กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยจะติดตามความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในอาสาสมัครต่อไปจนครบ 1 ปี ตามที่กำหนด ถ้าผลออกมาเป็นที่พอใจ จะขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่า จะสามารถขึ้นทะเบียนได้ปลายปี 2563 จากนั้นจะเริ่มผลิตตั้งแต่ปลายปี 2563 ล็อตแรก ประมาณ 1 แสนโดส ภายหลังองค์การอนามัยโลกประกาศสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่คาดว่าจะระบาดในปี 2564
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ทุกปีประเทศไทยจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงฟรี รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ปีละ 4 ล้านโดส ซึ่งต้องใช้งบประมาณจัดซื้อจากต่างประเทศปีละประมาณ 400 ล้านบาท หาก อภ.ผลิตได้ จะลดค่าใช้จ่ายนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงทางด้านวัคซีนให้ประเทศ ทั้งนี้ โรงงานผลิตวัคซีนนี้เป็นในระดับอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ใช้เทคโนโลยีผลิตในไข่ไก่ฟักจนเป็นวัคซีนสำเร็จรูปแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย มีกำลังการผลิตสูงสุด 10 ล้านโดสต่อปี ดำเนินการผลิตตามมาตรฐาน GMP-PICS พร้อมมีแผนขอการรับรองมาตรฐาน WHO Prequalification จากองค์การอนามัยโลก สำหรับการผลิตวัคซีนสายพันธุ์ระบาดรองรับการระบาดใหญ่ด้วย
“อภ.เตรียมพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ คู่ขนานไปกับการผลิตวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ตามฤดูกาลที่องค์การอนามัยโลกประกาศ เพื่อรองรับแนวโน้มในอนาคตที่จะเปลี่ยนมาใช้ชนิด 4 สายพันธุ์ และมีแผนจะขยายขนาดการผลิตวัคซีนไข้หวัดนกรองรับการระบาดชนิดเชื้อเป็นที่ผลิตโดยใช้ไข่ไก่ฟัก จากระดับต้นแบบมาสู่ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน อภ.ได้เริ่มวิจัยและพัฒนาวัคซีนไข้หวัดนกรองรับการระบาดชนิดเชื้อตายที่ผลิตโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยง นอกจากนี้ ยังมีแผนการนำวัคซีนตัวอื่นๆ มาบรรจุที่นี่ เช่น วัคซีน DTP-HB-Hib (วัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮีโมฟิลุสอินฟลูเอ็นเซ่ ชนิดบี) อีกด้วย” ผอ.อภ.กล่าว