สรุปผลสำรวจป้องกันโควิด-19 ช่วงคลายล็อกเฟส 1 ระหว่าง 8-14 พ.ค. พบการ์ดตกลงเล็กน้อย จาก 77.6% เหลือ 72.5% สวมหน้ากากทุกครั้งยังสูง 91% ลดลงเล็กน้อย ล้างมือ 83% กินร้อนช้อนตัวเอง 82% รักษาระยะห่าง 2 เมตร ได้ 61% ไม่จับใบหน้าทำได้แค่ 53% แนวโน้มคนออกนอกจังหวัดในสัปดาห์ที่ผ่านมา 26%
วันนี้ (16 พ.ค.) ผู้าอข่าวรายงานว่า สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานสถิติแห่งชาติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้สำรวจการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรน ระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. 2563 จากผู้ตอบแบบสอบถาม 19,378 คน ผ่าน https://thaifightcovid19.com/ แบ่งเป็นเพศหญิง 73% ชาย 26% อายุเฉลี่ย 48 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป 86% อาชีพข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 27% พนักงานลูกจ้างเอกชน 24% และประกอบธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย อาชีพอิสระอีก 19%
ผลสรุปการสำรวจพบว่า ในช่วงมาตรการผ่อนปรน กลุ่มตัวอย่าง 48% มีรายได้ลดลงและอีก 53% มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น โดยพบว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ 88% มาจากค่าอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ รองลงมา ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ 76% และค่าอาหาร 56%
ส่วนภาพรวมการเดินทางออกนอกจังหวัดในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบประชาชน 26% เดินทางออกนอกจังหวัด โดยเหตุผลที่เดินทางออกนอกจังหวัดเพราะจำเป็นต้องไปทำงาน 61% และเดินทางไปธุระจำเป็น เช่น ติดต่อหน่วยงานราชการ 21% และเดินทางไปเยี่ยมครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูง 21% นอกจากนี้ ยังพบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนประมาณ 11% ไปร่วมการรวมกลุ่มกิจกรรมทางสังคม เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานสังสรรค์ งานประชุม การเรียนการสอนต่อหน้า
สำหรับพฤติกรรมการป้องกันตนเองในช่วงผ่อนปรนมาตรการระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. พบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันตนเองลดลงในทุกพฤติกรรม เมื่อเทียบกับข้อมูลก่อนการผ่อนปรนมาตรการสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน โดยพฤติกรรมป้องกันโดยรวมจาก 77.6% ลดลงเหลือ 72.5% สวมหน้ากากทุกครั้ง 91.2% ลดลงเหลือ 91% ล้างมือทุกครั้งจาก 87.2% ลดเหลือ 83.4% กินร้อน ช้อนกลางตนเอง 86.1% ลดเหลือ 82.3% ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่นในระยะน้อยกว่า 2 เมตร จาก 65.3% เหลือ 60.7% และไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก จาก 62.9% เหลือ 52.9%
ขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลไทยในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อโควิด-19 พบว่า 65% เชื่อมั่น ขณะที่ 21% ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ และ 14% ไม่เชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม ได้และเตรียมนำผลที่ได้ไปพัฒนาแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้มากขึ้น