“สกลธี” เผยปรับปรุงถนนข้าวสารคืบหน้า 91% คาดเสร็จสิ้น 18 พ.ค. เร็วกว่ากำหนด 10 วัน เตรียม Big Cleaning 20 พ.ค. จากนั้นเปิดให้ค้าขายทันที เหตุเป็นจุดผ่อนผันแล้ว แต่ขอดูสถานการณ์โควิดก่อนปกติหรือไม่ คาดอาจให้เปิด 1 ก.ค. หรือ 1 ส.ค.แทน
วันนี้ (14 พ.ค.) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมความคืบหน้าโครงการงานปรับปรุงพื้นที่ย่านถนนข้าวสาร ว่า โครงการปรับปรุงพื้นที่ย่านถนนข้าวสาร เพื่อให้มีความสวยงาม สะอาด กว้างขวาง รองรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยปรับสภาพถนนและทางเท้าให้เป็นระดับเดียวและปูพื้นด้วยวัสดุสวยงาม คงทน ทำความสะอาดง่าย รองรับการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ถนนข้าวสาร ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยจัดขนาดแผงค้าที่เหมาะสม แบ่งโซนการขายตามประเภทสินค้า กทม.จะกำกับดูแลมิให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้มีอิทธิพล มิให้ผู้ค้านอกบัญชี หรือผู้ค้าจรเข้ามาเพิ่มจำนวน แต่กรณีมีผู้ค้าที่มีความเหมาะสมมาแสดงความจำนงเพิ่มเติม จะใช้วิธีการจับสลากหมุนเวียนผู้ค้า เป็นการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ก่อให้เกิดการสร้างรายได้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการค้าย่านถนนข้าวสาร และพื้นที่โดยรอบ
นายสกลธี กล่าวว่า การปรับปรุงเริ่มต้นสัญญาวันที่ 30 ม.ค. 2563 สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ค. 2563 ระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน ระยะทาง 400 ม. กว้าง 16 ม. ปริมาณพื้นที่ 6,400 ตร.ม. เนื้องานประกอบด้วย การรื้อถอนพื้นทางเท้าเดิม 3,120 ตร.ม. ปรับปรุงผิวทางและทางเท้าคอนกรีตเสริมเหล็ก หนาเฉลี่ย 0.15 ม. พื้นที่ 6,400 ตร.ม. จัดทำรางระบายน้ำ (GUTTER STAINLESS) พร้อมฝาขนาดกว้าง 0.30 ม. ยาวประมาณ 800 ม. ปรับปรุงพื้นปูหินแกรนิต (ผิวพ่นไฟ) ขนาด 0.40 x 0.40 ม. ความหนาไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว ติดตั้งเสา STAINLESS DAI 4" สูง 0.70 ม. ชนิดเก็บลงพื้นได้ เพื่อเป็นแนวกั้นระหว่างผู้ค้าแผงลอยและผู้ประกอบการในอาคาร ติดตั้งเต้ารับไฟฟ้าแบบฝังพื้นและกันน้ำ พร้อมงานเดินสายไฟ เสริมขอบบ่อ TOT และเสริมขอบบ่อไฟฟ้า
“ความคืบหน้าของงาน ปัจจุบันคืบหน้า 91% คาดว่า จะแล้วเสร็จวันที่ 18 พ.ค.นี้ เร็วกว่าสัญญา 10 วัน และวันที่ 20 พ.ค. สำนักงานเขตพระนครจะจัดกิจกรรม Big Cleaning สำหรับการกลับมาทำการค้าในพื้นที่ หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ และดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ สามารถเปิดทำการค้าได้เลย เนื่องจากสำนักงานเขตได้หารือร่วมกับเจ้าพนักงานจราจร และกำหนดให้เป็นจุดผ่อนผันสำหรับทำการค้าเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากในช่วงนี้มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องติดตามสถานการณ์ไปก่อน อาจจะกำหนดการเปิดคร่าวๆ ประมาณวันที่ 1 ก.ค. หรือ 1 ส.ค.” นายสกลธีกล่าว
นายสกลธี กล่าวว่า ระหว่างนี้จึงมอบหมายเขตประชุมหารือร่วมกับกลุ่มผู้ค้าถึงแนวทางการวางรูปแบบแผงค้าภายในถนนข้าวสารให้มีความสวยงาม และเป็นไปในทางเดียวกัน เนื่องจากการปรับปรุงครั้งนี้ไม่ได้จะเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ถนนอย่างเดียว ในส่วนของแผงค้าก็จะเปลี่ยนรูปแบบด้วยเพื่อให้มีความเหมาะสม สวยงาม และมีอัตลักษณ์ที่เข้ากับถนนด้วย ซึ่งในเบื้องต้นประชาคมผู้ประกอบการถนนข้าวสารได้ออกแบบแผงค้าในรูปแบบต่างๆ ของร้านค้า อาทิ ร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านสักเจาะ ร้านจำหน่ายเสื้อผ้า โดยมีรูปแบบลักษณะของแต่ละร้านต่างกันออกไป ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบและหาสปอนเซอร์เพื่อจัดหางบประมาณมาจัดทำแผงค้า โดยภายหลังจากปรับปรุงทั้งสองส่วนแล้วเสร็จ นอกจากถนนจะสวยงามมีอัตลักษณ์แล้ว เจ้าหน้าที่เขตก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น หากพบแผงค้าที่มีรูปแบบอื่นหรือแตกต่างออกไป ก็จะทราบทันทีว่าเป็นผู้ค้าภายนอก ไม่ใช่ผู้ค้าที่ลงทะเบียนไว้กับเขต
ในส่วนของผู้ค้า สำนักงานเขตพระนครเคยสำรวจมีจำนวนผู้ค้าประมาณ 250 ราย แต่ทั้งนี้ ต้องนำประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 มาพิจารณาด้วยว่าผู้ค้าตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ พร้อมกันนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจจะพิจารณาขยายเวลาทำการค้าเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้ทำกาารค้าเวลา 12.00-24.00 น. อาจแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงแรกตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ช่วงที่ 2 ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. เพื่อให้สามารถรองรับผู้ค้ารายเดิมในถนนข้าวสารและผู้ค้ารายใหม่ที่จะมาทำการค้าภายในถนนข้าวสารด้วย
“แม้ว่าจะพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ถนนข้าวสารแล้ว แต่พื้นที่ดังกล่าวยังถือเป็นที่สาธารณะ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายอื่นที่มีความประสงค์จะมาทำการค้าภายในถนนข้าวสารด้วย แต่ต้องผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด ทั้งนี้ หลังจากนี้ กรุงเทพมหานครจะต่อยอดพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ถนนไกรสีห์ ซึ่งปัจจุบันได้ขอจัดสรรงบประมาณเรียบร้อยแล้ว หากดำเนินการแล้วเสร็จ ก็จะพัฒนาปรับปรุงถนนตานี และถนนรามบุตรี เพิ่มเติมให้พื้นที่ใกล้เคียงถนนข้าวสาร มีรูปแบบเดียวกันทั้งหมด เพื่อเป็นแลนด์มาร์ก หรือถนนต้นแบบ สำหรับจุดท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อไป” นายสกลธี กล่าว