เครือข่ายองค์กรผู้หญิง เด็ก และการศึกษา กว่า 70 องค์กร ร้อง รมต. ศึกษาแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน ชง ศธ. ออกมาตรการเร่งด่วนทำโรงเรียนให้ปลอดภัย ตั้งกลไกอิสระรับเรื่องร้องเรียน ให้การศึกษาครูเรื่องการคุ้มครองเด็ก หากพบครูล่วงละเมิดเด็กต้องถอนใบประกอบวิชาชีพ
วันนี้ (14 พ.ค.) เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วย องค์กรด้านการคุ้มครองเด็ก ผู้หญิง และการศึกษา กว่า 70 องค์กร ได้ออกมารณรงค์เรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ผ่านเว็บไซต์ change.org ให้ดำเนินมาตรการแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนอย่างเร่งด่วน สืบเนื่องจากกรณีนักเรียนหญิงวัย 14 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร ถูกครูในโรงเรียนจำนวน 5 คน ร่วมกับพวกอีก 2 คน ข่มขืนกระทำชำเรามานานนับปี จนมีการแจ้งความดำเนินคดีไปเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
นางสาววราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมเรียกร้องครั้งนี้ กล่าวว่า เหตุการณ์ครูข่มขืนนักเรียนที่จังหวัดมุกดาหารเป็นข่าวที่สะเทือนสังคม มิหนำซ้ำ เมื่อมีการเผยแพร่ข่าวออกไป กลับมีครูในโรงเรียนและบุคคลอื่นที่อ้างตัวเป็นครูออกมาแสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียล ในลักษณะที่เป็นการให้กำลังใจครูที่ตกเป็นผู้ต้องหา และประณามเด็กนักเรียนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ทำให้สังคมตั้งคำถามกับบุคลากรในระบบการศึกษาของไทย ว่า มีจิตสำนึกความเป็นครู สำนึกเรื่องการคุ้มครองเด็ก ความเสมอภาคระหว่างเพศ และมีความละเอียดอ่อนต่อสภาพปัญหาของเด็กที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมมากน้อยเพียงใด รวมทั้งมองว่า ที่ผ่านมา ทางกระทรวงศึกษาฯ เองก็ไม่มีได้มาตรการแก้ไขและปัองกันปัญหาครูล่วงละเมิดทางเพศเด็กอย่างจริงจังจนเกิดเป็นปัญหาซ้ำซาก
“เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเด็กนักเรียนในความดูแลของกระทรวงศึกษาฯ ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศที่เกิดจากการกระทำของบุคลากรทางการศึกษาเอง ตรงกันข้าม เหตุการณ์นี้ รวมถึงการแสดงทัศนะของผู้ที่อ้างตัวเป็นครูในลักษณะที่เข้าข้างผู้ต้องหา และกล่าวโทษเด็กนักเรียน สะท้อนถึงวัฒนธรรมความรุนแรงทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการศึกษาไทย ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาฯ ยังคงทำงานแบบตั้งรับ โดยคอยรับเรื่องร้องเรียนหลังเกิดเหตุแล้ว และการล่วงละเมิดที่เคยเกิดขึ้นหลายๆ กรณี ทางกระทรวงก็ไม่ได้มีการเอาผิดและลงโทษครูที่กระทำผิดอย่างจริงจัง รวมทั้งไม่มีนโยบายแก้ไขที่รากเหง้าของปัญหา ความรุนแรงทางเพศที่บุคลากรทางการศึกษากระทำกับเด็กจึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า” นางสาววราภรณ์ กล่าว
ด้าน นางสาวทัศนวรรณ บรรจง ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไท กล่าวว่า กระทรวงศึกษาฯ ต้องมีนโยบายและมาตรการในการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความรุนแรงทางเพศต่อนักเรียนขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้การศึกษากับครูและผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่ง ให้เข้าใจเรื่องหลักการคุ้มครองสิทธิเด็ก เข้าใจว่า อะไรคือความรุนแรงทางเพศ มีความละเอียดอ่อนต่อเด็กที่มีความเปราะบางทางสังคม ซึ่งปัจจุบันเด็กเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น โรงเรียนจึงต้องเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กด้วย
“กระทรวงศึกษาฯ ต้องทำให้โรงเรียนและสถานศึกษาอื่นๆ ทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งของรัฐและเอกชน เป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ไม่ใช่สถานที่ที่เด็กเข้าไปแล้วต้องไปเสี่ยงจะถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือใช้ความรุนแรง” นางสาวทัศนวรรณ กล่าว
ในส่วนข้อเรียกร้องของเครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ change.org เน้นให้กระทรวงศึกษาฯ ต้องดำเนินการดังนี้ 1. มีนโยบายและมาตรการเชิงรุกที่รอบด้านในการแก้ไขและป้องกันปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน 2. จัดตั้งกลไกระดับกระทรวงเพื่อรับเรื่องร้องเรียนกรณีความรุนแรงทางเพศ โดยกลไกดังกล่าวต้องมีกระบวนการทำงานที่เป็นอิสระจากอิทธิพลต่างๆ มีผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและการแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศจากภายนอกเข้าร่วม และต้องประชาสัมพันธ์นักเรียนและผู้ปกครองรับรู้และเข้าถึงกลไกนี้ได้อย่างกว้างขวาง
3. ให้การศึกษาแก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็ก ความเสมอภาคระหว่างเพศ และให้มีแนวปฏิบัติเพื่อทำให้โรงเรียนทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ 4. กรณีที่มีการล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียน กระทรวงศึกษาฯ ต้องร่วมเป็นเจ้าทุกข์ในการดำเนินคดีอาญา ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพนักเรียนในปกครอง รวมทั้งต้องให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และการเยียวยาเด็กและครอบครัวด้วย 5. ในกรณีที่พบว่าบุคลากรทางการศึกษามีการกระทำผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียน ต้องมีการลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด ถอนใบประกอบวิชาชีพครู และหากบุคคลที่กระทำผิดยังคงทำงานในหน่วยงานด้านการศึกษา กระทรวงต้องไม่อนุญาตให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรงอย่างเด็ดขาด