ศบค.เผยร่างกิจการอาจเปิดได้ระยะ 2 มีทั้งกลุ่มภัตตาคาร ร้านอาหารในสำนักงาน กลุ่มห้าง เว้นโรงหนัง ฟิตเนส โบว์ลิ่ง สวนสนุก-สวนน้ำ กลุ่มร้านค้าปลีกส่ง กลุ่มเสริมสวยย้อมผมดัดผมไม่เกิน 2 ชม. คลินิกเสริมความงาม สนามกีฬากลางแจ้ง สวนดอกไม้ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ นวดฝ่าเท้า ถ่ายแบบ ไม่เกิน 5 คน แจงยังไม่นิ่ง ต้องรอประชุมชุดใหญ่ 15 พ.ค. แต่ให้ข้อมูลเพื่อเตรียมตัว
วันนี้ (11 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียเผยแพร่ข้อมูลการผ่อนปรนกิจการในระยะที่ 2 ว่า กิจการใดจะเปิดวันใด ว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังไม่เป็นข้อสรุปชัดเจนสุดท้าย ซึ่งต้องรอวันที่ 15 พ.ค.ที่จะมีการประชุม ศบค. อย่างไรก็ตาม จะประกาศแบบไม่เป็นทางการไปก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการไปเตรียมตัว แต่ยังไม่ 100% ส่วนกิจการใดบ้างนั้น เดิมประกาศไว้ 3 กลุ่ม คือ 1. ด้านเศรษฐกิจและดำเนินชีวิตประจำวัน ระยะที่ 2 เช่น ก. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร และร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม ในอาคารสำนักงาน ข. ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า คอมมูนิวตีมอลล์ ยกเว้นโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส โบว์ลิ่ง สวนสนุก สวนน้ำ ศูนย์ประชุม และศูนย์พระเครื่องสนามพระ ค. ร้านค้าปลีก ค้าส่งอื่นๆ ง. ร้านเสริมสวย ย้อมผม ดัดผม หรือกิจการอื่นๆ ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงและร้านทำเล็บ
2. ด้านออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ เช่น ก.คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม คุมน้ำหนัก ข. สนามกีฬา เฉพาะกีฬากลางแจ้ง ตามกติกาสากล เล่นเป็นทีมไม่มีผู้ชม ค. สวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์แกลอรี ห้องสมุดสาธารณะ (เข้าเป็นรายคน) ง. สถานประกอบการนวดแผนไทย (เฉพาะนวดเท้า)
3. กลุ่มอื่นๆ คือ การประชุม ณ สถานที่ภายในหรือภายนอกองค์กร ลักษณะการบรรยายร่วมกับวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (จำกัดจำนวนคนตามพื้นที่) ทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา ถ่ายแบบ ทำคลิป จำนวนไม่เกิน 5 คน
“เน้นย้ำว่า ตรงนี้เป็นร่างที่ต้องมีการประชุมหลายครั้ง และหลายร่างจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ เพราะมีการประชุมหลายฝ่าย ทั้งสาธารณสุข ฝ่ายมั่นคง ผู้ประกอบการ สภาพัฒน์ มีบางรายการเข้าใหม่ เข้าแล้วออกหรือเข้าใหม่อีก คือ ยังไม่นิ่ง แต่ผมสื่อไว้ก่อนว่ามีภาพคร่าวๆ ประมาณนี้ จะดึงความเสี่ยงที่ต่ำก่อนเข้ามา แต่เจ้าของกิจการควรมีเวลาไปทำพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้ามารับบริการแล้วไม่ติดโรค และท่านเองก็ปลอดโรคจากลูกค้าด้วย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ถามว่า หากเปิดห้างอาจต้องมีการจัดเก็บข้อมูล เรื่องแอปพลิเคชันติดตามตัวชัดเจนแล้วหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หลายคนบอกว่า แอปพลิเคชันติดตามตัวไม่เอาดีกว่า โทนอย่างนี้ก็อยากเรียนว่าไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น หลายร้านที่เราเข้าไปก็ขอชื่อนามสกุล จดเบอร์โทร.ไปก็คล้ายๆ อย่างนั้น ตามภาษาโซเชียลมีเดียก็คือเช็กอิน ไปตรงนั้นตรงนี้ก็เช็กอินเข้าไป แอปฯก็จะทำหน้าที่อย่างนั้น อยากให้ลองคิดกรณีที่เกิดขึ้น อย่างที่เกาหลีใต้ มีการเข้าไปสถานที่บันเทิงและมีคน 1,570 คน ต้องไปตามระบบของเขาใช้ไอทีตามคนได้ เราก็ต้องมีระบบประมาณนี้ เพื่อติดตามมารักษา ถ้าเช็กอินเข้าไปแล้วจะได้สบายใจด้วย ว่า ร้านที่เข้าก็ให้เรตติงได้ ใช้บริการแล้วเป็นอย่างไร ทำได้ดีก็ให้เรตสูง ไม่ดีก็บอกคนอื่น เราเคยช้อปออนไลน์ไหมก็เป็นอย่างนั้น ร้านนี้ส่งของคุณภาพก็ให้ 5 ดาว เช่นเดียวกันแอปฯเหล่านี้ก็จะบอกด้วย หรือจะเดินเข้าไป 3-4 ร้านก็ต้องเลือกร้านเรตติงสูงๆ คือสิ่งที่จะได้ด้วย นี่คือสิ่งที่ภาครัฐพยายามจะคิดตรงนี้ เพื่อตอบแทนสังคมห้ได้ว่าจะมีสังคมที่ปลอดภัยปลอดโรคอย่างไร ให้คุณภาพการบริการที่ดีด้วย