xs
xsm
sm
md
lg

กสศ.เตรียมจัดเงินอุดหนุนเพิ่ม ช่วยค่าอาหาร นร.ยากจนพิเศษ 5 แสนคน 18 พ.ค.นี้ จากปัญหาเลื่อนเปิดเทอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.ศธ. มอบนโยบายให้ สพฐ.- กสศ.เร่งลดผลกระทบเรื่องโภชนาการอาหารในช่วงเลื่อนเปิดเทอม ขณะที่ กสศ.เตรียมจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมช่วยค่าอาหารแก่ นร.ยากจนพิเศษ ป.1-ป.6 สังกัด สพฐ. ตชด. อปท. จำนวน 5 แสนคน ตั้งแต่ 18 พ.ค.นี้ ด้าน เลขา สพฐ.กำชับ เขตพื้นที่และโรงเรียน ทำความเข้าใจ ผู้ปกครอง-นร. เพื่อให้เด็กได้อิ่มท้องจริง ส่วน อ.สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการชื่อดัง ชี้ ปัญหาโภชนาการของเด็กยากจน คือ วิกฤตในวิกฤต แนะอาหาร 4 ชนิดสำคัญในถุงยังชีพเพื่อโภชนาการที่ดีของเด็กกลุ่มนี้

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) เปิดเผยว่า สพฐ. และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เข้าพบ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรายงานสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับผลกระทบจากการเลื่อนเปิดภาคเรียน เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดย รมว.ศธ.ได้สั่งการให้ทาง สพฐ.และ กสศ.ร่วมมือกันลดผลกระทบดังกล่าวให้กับนักเรียนกลุ่มนี้อย่างเร่งด่วน เบื้องต้น กสศ.จะจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขต่อเนื่องจากปีการศึกษา 2562 และมีรายชื่อการรับเงินอุดหนุน ภาคเรียนที่ 2/2562 (ข้อมูล ณ เดือน มี.ค. 63) ระดับชั้นประถมศึกษา 1-6 จำนวน 500,000 คน ในอัตรา 600 บาทต่อคน โดยทาง กสศ. แจ้งว่า จะจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมนี้ให้แก่โรงเรียนภายในวันที่ 18 พ.ย. 63 และขอให้สถานศึกษาดำเนินการจัดสรรให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พ.ค. 63


นายอำนาจ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในการดำเนินงานเพื่อให้นักเรียนยากจนพิเศษได้รับความช่วยเหลือเร็วที่สุด ทาง สพฐ. ขอความร่วมมือให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต สร้างความเข้าใจแนวทางและกระบวนการดำเนินงานแก่โรงเรียนในสังกัด โดยเฉพาะวิธีการใช้จ่าย “เงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคเพิ่มเติม” เพื่อให้เงินช่วยเหลือจาก กสศ.ครั้งนี้ ไปถึงเด็กนักเรียนที่กำลังเดือดร้อนได้เร็วและเกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมีเป้าหมายสำคัญให้นักเรียนทุนเสมอภาคได้ทานอาหารตามภาวะโภชนาการที่ดี ทั้งนี้โรงเรียนสามารถพิจารณาเลือกวิธีบริหารจัดการให้สอดคล้องตามความต้องการของนักเรียน และคำนึงถึงสถานการณ์ บริบทในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการช่วยเหลือนักเรียน โดยสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 โรงเรียนจัดหาข้าวสารอาหารแห้งที่จำเป็น หรืออาหารที่มีประโยชน์และจัดสรรให้กลุ่มเป้าหมายนักเรียนทุนเสมอภาคหรือผู้ปกครอง แนวทางที่ 2 โรงเรียนจ่ายเงินสดหรือโอนผ่านธนาคารไปยังกลุ่มเป้าหมายนักเรียนทุนเสมอภาคหรือผู้ปกครอง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนในการจัดหาอาหาร หรือเป็นค่าครองชีพ

“ที่ผ่านมา ต้องขอบคุณคุณครูและโรงเรียนที่ไม่เคยนิ่งเฉย คอยติดตามความเป็นอยู่นักเรียนด้วยความห่วงใยอย่างใกล้ชิด บางแห่งพยายามระดมความช่วยเหลือด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อันจำกัด เงินอุดหนุนจาก กสศ.ครั้งนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเด็กๆ ของเราได้ในเบื้องต้น ขอให้ช่วยกันสื่อสารทำความเข้าใจแก่นักเรียนและผู้ปกครองถึงวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายทุนนี้ให้นักเรียนยากจนพิเศษได้ประโยชน์จริงๆ อย่างไรก็ดี รมว.ศธ.ได้มีข้อแนะนำให้ กสศ.หาช่องทางในการขอรับงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษให้ครอบคลุมชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นอีกราว 2 แสนคน ทั้งนี้ หาก กสศ.ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมก็จะสามารถจัดสรรได้ทันช่วง มิ.ย.นี้” เลขา สพฐ. กล่าว


นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การช่วยเหลือนักเรียนยากจนด้อยโอกาสในเรื่องของโภชนาการอาหารให้เพียงพอในช่วงเลื่อนเปิดเทอมเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน โดยเบื้องต้น ภายใต้งบประมาณที่จำกัดจะมุ่งไปที่นักเรียนชั้น ป.1-ป.6 เนื่องจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลน้ำหนัก/ส่วนสูงในภาคเรียน 2/2561 จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ iSEE ของ กสศ. โดยอ้างอิงข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 720,946 คน พบว่า นักเรียนยากจนพิเศษระดับประถมศึกษามีปัญหาทางภาวะโภชนาการรุนแรงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระดับมัธยมต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตในอนาคตอย่างถาวรได้ โดยมีนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการที่ควรได้รับการช่วยเหลือในระดับชั้นประถมประมาณ 29,991 คน ซึ่งจะอยู่ในจำนวน 500,000 คนที่จะได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ด้วย

นายสุภกร กล่าวต่อว่า กสศ.ได้เชิญ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการอาวุโส ร่วมจัดทำรายการข้าวสารอาหารแห้งที่เป็นประโยชน์และมีโภชนาการที่ดีสำหรับเด็กเพื่อแนะนำให้โรงเรียนจัดหาให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาค ภายใต้งบประมาณ 600 บาทต่อคนใน 30 วันเรียน เรียกว่าเป็นถุงยังชีพเพื่อโภชนาการที่ดีของนักเรียนยากจนในช่วงการเลื่อนเปิดเทอม ซึ่งประกอบด้วย ข้าวสาร 20 กิโลกรัม ไข่ไก่ 36 ฟอง ปลากระป๋อง 10 ประป๋อง น้ำมันพืช 1 ขวด หากไม่มีอุปสรรคเรื่องการเดินทาง เด็กๆ เดินทางมาง่าย บางโรงเรียนอาจมีศักยภาพในการบริหารจัดการเป็นโรงครัวเพื่อให้เด็กๆ มารับประทานอาหารหรือรับอาหารกลับไปได้ โดยมีการจัดระยะห่างเพื่อความปลอดภัย ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

“กสศ.ยังประสานกับภาคธุรกิจเอกชนจำหน่ายข้าวสารอาหารแห้งในราคาเท่าทุนหรือต่ำกว่าต้นทุนให้แก่โรงเรียนอีกด้วย สำหรับประชาชน หรือภาคส่วนต่างๆ สามารถร่วมบริจาคสมทบเพื่อโภชนาการที่ดีของนักเรียนยากจนพิเศษในช่วงเลื่อนเปิดเทอม และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า ได้ที่ https://donate.eef.or.th/main-donate หรือธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี กสศ.มาตรา 6(6) - เงินบริจาค เลขที่บัญชี 1720300216 สอบถามรายละเอียดได้ที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หมายเลขโทรศัพท์ 02-079-5475” นายสุภกร กล่าว


นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ กล่าวว่า ความเดือดร้อนของนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับผลกระทบเรื่องการขาดแคลนอาหารนั้น ถือว่าเป็นวิกฤตในวิกฤต ขนาดของปัญหานั้นใหญ่มากกระทบเด็กมากกว่า 7 แสนคน ที่ต้องกินอาหารที่บ้านซึ่งไม่สามารถแบกรับภาระตรงนี้ พ่อแม่ให้อาหารลูกไม่ถูกหลักโภชนาการ กินไม่อิ่ม หรือต้องอดมื้อกินมื้อ แม้เพียงแค่ 2-3 เดือน ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะเด็กยากจนที่มีภาวะทุพโภชนาการอยู่แล้ว จะยิ่งส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่ายรวมทั้งโรคโควิด-19 เมื่อเปิดเทอมมา จำนวนเด็กนักเรียนที่ขาดสารอาหารเพิ่มขึ้น มีรูปร่างผอม เตี้ย แคระแกรน ที่สำคัญที่สุด เซลล์สมองของเด็กจะเติบโตช้า มีความเสี่ยงสูงต่อไอคิวต่ำ เรียนหนังสือไม่เก่ง สอบตกซ้ำชั้น ผลกระทบทั้งหมดนี้ยากที่จะกู้คืนกลับมาให้เป็นปกติได้ และจะส่งผลกระทบระยะยาวไปถึงอนาคตเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ

นายสง่า กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้ร่วมกับ กสศ. จัดทำคู่มือแนะนำผู้ปกครองเพื่อวางแผนจัดการเงินอุดหนุน 600 บาท ให้ถูกแปลงเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองในการเตรียมอาหารช่วงระหว่างปิดเทอมให้เกิดประโยชน์กับเด็กมากที่สุด สำหรับอาหารที่แนะนำในงบประมาณ 600 บาท ต่อคน ใน 30 วันนั้น เน้นอาหารหลักๆ ที่จำเป็นต่อเด็กและเก็บรักษาไว้ได้นานไม่เน่าเสียเร็ว ซึ่งเป็นอาหาร 4 ชนิดสำคัญในถุงยังชีพเพื่อโภชนาการที่ดีของเด็กยากจน ได้แก่ 1. ข้าวสาร คือ อาหารหลักที่ให้สารอาหารเรียกว่า คาร์โบไฮเดรต เพื่อให้เด็กมีพลังงาน มีกำลังวังชา เรียนหนังสือได้ ร่างกายแข็งแรง 2. ไข่ ให้สารอาหารโปรตีนที่ดี มีวิตามินแร่ธาตุ ซึ่งเด็กๆ จะขาดไม่ได้ ต้องได้รับโปรตีนทุกมื้อ เพราะร่างกายจะนำไปสร้างเนื้อเยื่อ และซ่อมแซมร่างกายที่สึกหรอ ให้มีภูมิต้านทานโรค สร้างความเจริญเติบโต 3. ปลากระป๋อง ให้สารอาหารโปรตีนและแคลเซี่ยม ประโยชน์คล้ายๆ ไข่ รับประทานสลับกับไข่ได้ 4. น้ำมัน ให้สารอาหารไขมัน ร่างกายจะนำไปสร้างพลังงาน สร้างความอบอุ่น และนำวิตามินที่ละลายได้ในไขมันเข้าสู่ร่างกาย สำหรับผักและผลไม้ ที่ให้สารอาหารวิตามินและแร่ธาตุ ขอวิงวอนพ่อแม่ให้หาผักผลไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นของท่านนำมาปรุงและประกอบอาหารให้ลูกได้กินทุกมื้อ เพื่อให้ลูกได้กินอาหารครบ 5 หมู่


กำลังโหลดความคิดเห็น