xs
xsm
sm
md
lg

ชงถอด “จีน-เกาหลีใต้” ออกจากประเทศเขตติดโรคโควิด-19 เล็งผ่อนผันนำเข้าแรงงานฝีมือผ่าน “สมาร์ทวีซ่า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค. เผย “อนุทิน” ชงถอด “จีน-เกาหลีใต้” ออกจากประเทศเขตติดโรคโควิด-19 ชี้ หากปลดออกไม่ได้แปลว่าจะเข้าประเทศได้ทันที เหตุยังตรึงมาตรการป้องกันนำเชื้อเข้าประเทศ ทั้งลงทะเบียน มีใบรับรอง ต้องกักตัวเมื่อเข้ามา เล็งผ่อนผันแรงงานมีความสามารถให้เข้าไทยได้ ผ่านการทำสมาร์ทวีซ่า


วันนี้ (7 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.มีการพูดถึงเรื่องของต่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์ติดเชื้อของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป อย่างประเทศจีน และ เกาหลีใต้ ควบคุมผู้ป่วยรายใหม่จนเหลือหลักหน่วย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอว่า น่าจะมีการปรับรายชื่อ ถอนบางประเทศออกไปจากประเทศเขตติดโรคติดต่อโรคโควิด-19 เพื่อให้มีการทำงานหรือมีความสัมพันธ์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่ดีต่อไปด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ แต่ต้องนำไปสู่การประชุมหารือและดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนต่างๆ


“ถ้าปลดตรงนี้ไม่ได้แปลว่าจะเข้าประเทศได้ทันที เพราะมีมาตรการต่างๆ ที่จะจัดการอยู่ ตั้งแต่บินลงมา ซึ่งเราแย้มน่านฟ้าให้ลงได้ แต่ต้องมีขออนุญาต ต้องมีใบรับรองแพทย์ฟิตทูฟลายว่าบินได้ มีการลงทะเบียนก่อน เข้ามาแล้วก็ต้องอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด 14 วัน เรียกว่า มีหลายปราการ ยิ่งประเทศที่มีการติดเชื้อรุนแรงในปัจจุบัน การเข้มงวดระบบการตรวจคนเข้าเมืองสำคัญกว่าการประกาศ ซึ่งถือเป็นระบบที่ใช้ตรึง ทุกวันนี้ก็ยังตรึงไว้อยู่ ตอนนี้สาเหตุติดเชื้อมาจากนำเข้าทั้งสิ้น ซึ่งไม่ต้องห่วง เรามองเห็นว่าเป็นประเด็น ถ้ายังไม่ดีเพียงพอไม่ให้นำเข้าแน่นอน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวและว่า ส่วนสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ที่ว่ามีการเปิดประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็ยังไม่อยู่ในลิสต์รายชื่อของไทย มีแค่จีนและเกาหลีใต้


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกฯ ยังย้ำเรื่องของการทำงานร่วมกันในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประชุมครั้งที่แล้วหารือกันว่า น่าจะรวมกลุ่มลงทุนด้านวัคซีน ศึกษาเรื่องโควิดด้วยกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันด้านสาธารณสุข และพูดถึงมาตรการผ่อนผันแรงงานที่มีความสามารถให้เข้ามาได้ เรียกว่า เป็นสมาร์ทวีซ่า เชื่อมโยงเรื่องการเคลื่อนย้ายคนเก่งอยากกลับมาจากต่างประเทศ จะได้มีบุคลากรที่ดีเข้ามาทำงาน และเรื่องถัดมา คือ เรื่องการจัดตั้งเทสต์แล็บ หรือการพัฒนาชุดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ อย่างการทำชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ซึ่งตอนนี้ขาดตลาดทั่วโลก ถ้าเราสามารถทำได้และออกมาในเชิงการมีมาตรฐานที่ทดสอบได้ ถ้ามีการทดสอบในไทยด้วยก็ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น