xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ชี้ “หน้ากากอนามัยมือสอง” ไม่ได้เอามาจาก รพ. ถือเป็นปฏิกูลห้ามใช้ต่อ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.แนะ รพ.หากหน้ากากอนามัยขาดให้แจ้ง สสจ. เกลี่ยหมุนเวียนให้เพียงพอในจังหวัด ส่วนกรณีทำ หน้ากากอนามัยมือสอง พบไม่ได้มาจาก รพ. ไม่ได้เข้าข่ายขยะติดเชื้อ แต่เป็นสิ่งปฏิกูล มีข้อกำหนดการทิ้งและทำลาย ห้ามนำมาใช้ต่อ ชี้มีโทษทั้งจำและปรับตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข ย้ำซักรีดหน้ากากอนามัยทำให้เสียรูป

วันนี้ (3 มี.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวโรงพยาบาลหลายแห่งขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ว่าทางฝั่ง สธ.เป็นผู้ใช้ ไม่ใช่ผู้ผลิต ส่วนความห่วงใยถึงความเดือดร้อนของ รพ.ต่างๆ สธ.รับทราบแล้ว กำลังประสานเพื่อให้มีเพียงพอต่อไป อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่ใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ พบว่าบางจุดขาด บางจุดมีเยอะ ตรงนี้ขอย้ำว่า รพ.ที่ขาดก็สามารถแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อใช้กลไกจังหวัดในการเกลี่ยหรือหมุนเวียนใช้จาก รพ.ที่มีอยู่ แต่หากขาดแคลนจริงๆ ก็สามารถแข้งเข้ามาได้เพื่อดำเนินการลงไปดูแล อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าหน้ากากผ้าเหมาะสำหรับประชาชนทั่วไปที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ หากเข้าไปในพื้นที่ชุมชนก็สามารถใช้หน้ากากผ้าได้ ที่สำคัญสามารถนำมาซักแล้วใช้ใหม่ได้หลายครั้ง มีความคุ้มค่า เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็จะช่วยให้มีหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพียงพอสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ คือ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทุกโรค บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย เป็นต้น

เมื่อถามถึงกรณีการบุกจับการทำหน้ากากอนามัยมือสอง โดยมีการซัก รีด และพับขายตลาดมืด นพ.โอภาสกล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นว่าหน้ากากอนามัยเหล่านี้มาจากไหน ทราบว่าไม่ได้มาจากโรงพยาบาล ก็เบาใจไปส่วนหนึ่งที่ว่าไม่ใช่เป็นขยะติดเชื้อ แต่ทราบเบื้องต้นว่ามาจากโรงงาน โอกาสติดเชื้อรุนแรงก็อาจต่ำลง แต่ก็ยังมีควมผิดตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 อยู่ดี

นพ.สมพงษ์ ชัยโอภานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กล่าวว่า หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไม่ควรนำมาใช้ต่อ หากมาจากโรงพยาบาลจะถือว่าเป็นขยะติดเชื้อ แต่กรณีนี้หน้ากากอนามัยใช้แล้วไม่ได้มาจากโรงพยาบาลก็เข้าข่ายว่าเป็นสิ่งปฏิกูล ซึ่งตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ก็มีการกำหนดเรื่องของการทิ้งและการทำลาย และห้ามเอาไปใช้ต่อ ดังนั้น หากฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามหมวด 3 การจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีโทษทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ การนำหน้ากากอนามัยมาซักและรีดก็จะทำให้หน้ากากอนามัยเสียรูปผิดมาตรฐานไปด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น