xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ปรับโฉมอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ โชว์โบราณวัตถุล้ำค่ากว่า 1 พันรายการ เปิดให้ชมปี 64

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมศิลป์ปรับโฉมอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ โชว์โบราณวัตถุล้ำค่ากว่า 1 พันรายการ ชมนิทรรศการได้ 360 องศา พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชมปี 2564

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ขณะนี้ กรมศิลปากร ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยในปี 2563 ได้ปรับปรุงอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ภายในพิพิธภัณฑสานแห่งชาติ พระนคร ทั้งด้านหน้าเนื้อหาวิชาการที่มีความก้าวหน้า และมีรูปแบบการจัดแสดงที่ทันสมัยทัดเทียมพิพิธภัณฑ์สากล โดยเปิดให้เข้าชมได้ในปี.2564 ภายใต้หัวเรื่อง นิทรรศการ ประวัติศาสตร์โบราณคดีในประเทศไทยหลังพุทธศตวรรษที่ 19

โดยห้องจัดแสดงใหม่นี้ ประกอบด้วย การจัดแสดงที่นำเสนอเนื้อหาประวัติศาสตร์โบราณคดี ผ่านการจัดวางโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุรับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์และรับมอบจากส่วนราชการต่างๆ ในประเทศไทย กว่า 1,000 รายการ โดยมีในรูปแบบการจัดวางแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ซึ่งผู้ชมได้เห็นรูปลักษณ์รอบด้าน หรือ 360 องศา พร้อมมีศิลปะการจัดแสงเงา และสื่อมัลติมีเดียประกอบการนำเสนอข้อมูลเชิงลึก มีระบบควบคุมสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสภาพโบราณวัตถุให้มั่นคงอยู่เบื้องหลังการจัดแสดงแต่ละห้อง ภายใต้พื้นที่ 2,800 ตารางเมตร ลำดับเนื้อหาตามยุค สมัยทางประวัติศาสตร์ ดังนี้ 1. ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนา นำเสนอเรื่องราวของรัฐสำคัญทางภาคเหนือ ทั้งด้านกลุ่มชน ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การปกครอง ศาสนา และศิลปกรรม ที่เจริญอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-21 และสืบต่อมาถึงสมัยนครเชียงใหม่ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่จัดแสดง ได้แก่ พระพุทธรูปสกุลเชียงแสน หรือ สิงห์ เครื่องถ้วยจากแหล่งเตาภาคเหนือ 2. ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีสุโขทัย นำเสนอเรื่องราวความรุ่งเรืองของอาณาจักรสุโขทัย โบราณวัตถุชิ้นสำคัญได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 1 พระพุทธปางลีลา อันเป็นเอกลักษณ์ แห่งศิลปะสุโขทัย ยุคทองแห่งศิลปกรรมในประวัติศาสตร์ไทย เป็นต้น

3. ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีกรุงศรีอยุธยา 4. ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดีกรุงรัตนโกสินทร์ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น2ยุค โดยห้องแรกนำเสนอเรื่องราวของกรุงธนบุรี การก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 และห้องที่ 2 แสดงเรื่องการพัฒนาบ้านเมืองเข้าสู่สมัยใหม่ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ถึงสมัยปัจจุบัน เป็นจุดเชื่อมเรื่องราวความเจริญทางศิลปกรรม ประเพณี ไปสู่นิทรรศการศิลปกรรมไทยประเพณีในอาคารหมู่พระวิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ โรงราช รถ ตำหนักแดง และสถาปัตยกรรมต่างๆ ของพระราชวังบวรสถานมงคล


กำลังโหลดความคิดเห็น