xs
xsm
sm
md
lg

อยู่บ้านอีกเป็นเดือน เตือนอย่ากินเมนูซ้ำๆ ชวนโหลดเมนูสุขภาพ วางแผนกินหลากหลาย 21 มื้อ ใน 1 สัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย เตือนหยุดอยู่บ้านเลี่ยงโควิด ระวังกินอาหารเมนูซ้ำๆ แนะกินหลากหลาย เน้นผักผลไม้ เลี่ยงอาหารแคลอรีสูง เสริมด้วยนมและไข่ กลุ่มอาหารมีวิตามินซี อี ดี ซิลิเนียม สังกะสี ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ย้ำ “ทุเรียน” ควรกินวันละพู

วันนี้ (30 เม.ย.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเรื่องการกินอยู่อย่างไรห่างไกลโควิด-19 ว่า จากสถานการณ์ตอนนี้น่าจะต้องอยู่กับบ้านไปอีกพักใหญ่ การกินอยู่มีหลัก 3 ข้อ คือ 1. กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ คือ กินอาหารสุกใหม่ ถ้าสั่งมาจากดิลิเวอรี ก็เลือกที่สามารถเอามาอุ่นใหม่ได้มื้อต่อมื้อ วันต่อวัน การมีช้อนภาชนะส่วนตัว ก็จะเป็นชีวิตวิถีใหม่ที่ต้องปรับตัว 2. กินถูกหลักโภชนาการทุกกลุ่มวัย และ 3. สารอาหารสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า การกินถูกหลักโภชนาการ คือ 1. กินอาหารที่มีความหลากหลายในทุกกลุ่มวัย พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตไม่ควรมากเกินไป เนื้อสัตว์กินให้พอเหมาะ แต่ถ้าวัยเด็ก ผู้สูงอายุซึ่งยังต้องการโปรตีนช่วยเสริมก็ควรรับอย่างเพียงพอ และมีผักผลไม้ทุกมื้อ 2. เลือกวัตถุดิบและเก็บวัตถุดิบที่จะปรุงให้เหมาะสมกับประเภทอาหาร จะได้มีอาหารใหม่สดปรุงทุกวัน 3. เมนูชูสุขภาพ เนื่องจากแต่อาหารวันละ 3 มื้อ 7 วันก็ 21 เมนู เดือนหนึ่งก็เกือบร้อยเมนูแล้ว ซึ่งก็มีเมนูซ้ำแน่นอน แล้วจะกินเมนูอะไรดี กรมอนามัยจึงทำเมนูสุขภาพตัวอย่างที่ทานได้ทุกวัย ดูได้ในเว็บไซต์ของกรมอนามัย ซึ่งจะเปิดให้ดาวน์โหลดได้ในสัปดาห์หน้า 4. ดื่มนมจืดวันละ 1-2 แก้ว โดยเฉพาะเด็ก 5. เด็กทารกให้ดื่มนมแม่ กลุ่มที่สังเกตอาการหรือติดเชื้อก็ให้นมลูกได้ แต่ให้ปรึกษาคุณหมอ

“เด็กอยู่กับบ้าน มักขอให้สั่งอาหารที่เป็นเมนูแคลอรีสูงขอให้ระวัง อย่างไรก็ตาม เด็กยังพอมีกิจกรรมอยู่มาก แต่ผู้ใหญ่ตอนนี้กิจกรรมทางกายลดลงมาก รอผ่อนปรนถึงจะได้ออกไปออกกำลังกายบ้าง แต่ถ้าอยู่ในบ้านอย่าลืมออกกำลังกาย มีกิจกรรมทางกาย และระวังเรื่องการกินอาหารจุบจิบระหว่างมื้อบ่อยขึ้น โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบ เพราะกลุ่มนี้มักมีการปรุงรสที่มีความเค็ม ใช้สารแต่งเติมรสชาติ และน้ำอัดลม จากอากาศร้อนด้วย ต้องฝากไว้ และถ้ามีคนในครอบครัวมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคไต อาจเว้นระยะไปพบแพทย์ สังเกตอาการที่บ้าน การดูแอาหารยิ่งสำคัญขึ้น ไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด มะม่วงทานได้ ไม่เกิน 1 ลูก ทุเรียนทานได้ไม่เกิน 1 พู เพราะหวานมาก” พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เมนูเสริมภูมิคุ้มกัน เราต้องการวิตามินและเกลือแร่ ซึ่งพบในผักผลไม้ ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานดีขึ้น ได้แก่ 1. วิตามินซี ช่วยกระบวนการทำงานเม็ดเลือดขาว เสริมภูมิคุ้มกัน ในกลุ่มที่มีอาการแบบภูมิแพ้ ลดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจ ลดอาการจามน้ำมูกไหล ร่างกายสังเคราะห์เองไม่ได้ ต้องทานเข้าไป ผลไม้ไทย เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะเขือเทศ พริก พริกวาน ผักต่างๆ 2. วิตามินอี เป็นกลุ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ร่างกายพยายามย่อยโปรตีน ไขมัน หรือการรับพิษต่อร่างกาย ร่างกายจะมีปฏิกิริยา เกิดอนุมูลอิสระขึ้นมีผลต่อร่างกายเสื่อมสภาพเร็วขึ้นถ้าสะสมนานๆ การใช้สารต้านอนุมูลอิสระ หาได้ในการรับประทาน แหล่งของวิตามินอี คือ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันปาล์ม น้ำมันรำข้าว ถั่วลิสง ไข่เป็นไข่ไก่ โดยเฉพาะไข่แดง 3. วิตามินดี ส่วนหนึ่งเกิดจากการรับแสงแดดอ่อน หรือเสริมด้วยกลุ่มปลา อาหาร ไข่แดง

“ส่วนกลุ่มสารอาหารที่ช่วยระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ซิลิเนียมช่วยเสริมการทำงานของวิตามิน ช่วยระบบการทำงานฮอร์โมนทำได้ดียิ่งขึ้น อยู่ในปลาทูสด ไข่ ปลาจาระเม็ด เนื้อปู เป็นต้น เมนูกลุ่มนี้จะช่วยเพิ่มสารซิลิเนียม และสังกะสีเป็นแร่ธาตุที่ช่วยควบคุมการทำงานเอนไซม์ ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน มีในเนื้อสัตว์ เครื่องใน ไข่ และปลา ธัญพืชต่างๆ ก็เหมาะที่จะกินระหว่างวัน” พญ.พรรณพิมล กล่าวและว่า เมนูแนะนำ เช่น ไข่ตุ๋นใส่ผักต่างๆ แครอท ตำลึง หรือผัดพริกกะเพราใส่ไข่ โดยกะเพราช่วยเรื่องการขับลม ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลในเลือดได้ กลิ่นก็ช่วยชูรส ส่วนพริก กระตุ้นความอยากอาหาร ลดระดับน้ำตาลในเลือด วิตามินซีสูง แนะนำกะเพราปลา กะเพราไข่เจียว ต้ำยำปลาทู สปาเกตตีขี้เมาทะเล เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น