สมองเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีความพิเศษและแตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอื่น พลังแห่งการคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นด้วยการทำงานที่ซับซ้อนและทรงประสิทธิภาพของสมองซึ่งต้องการพลังงานและสารอาหารที่มีประโยชน์เข้ามาหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ แต่ในชีวิตจริงเรามักตามใจปาก หลงทางไปกับสีสัน หน้าตาและรสชาติมากกว่าอาหารที่เสริมสร้างสมอง
ทุกวันนี้หลายคนเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับประเด็นสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะการมีสุขภาพจิตที่แจ่มใสและสุขภาพกายที่แข็งแรง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความสัมพันธ์เชื่อมโยงใกล้ชิดกับประสิทธิภาพการทำงานของสมองในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานทุกส่วนของร่างกายให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สามารถจัดการภาวะทางอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพทางความคิดและการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยได้อย่างต่อเนื่อง
การดูแลและเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของสมองเพื่อสุขภาวะที่ดีทำได้โดยการนำเข้าพลังงานและสารอาหารที่ครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและไขมันจากพืชและสัตว์ซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเซลล์สมอง คาร์โบไฮเดรตจากแป้งและน้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานที่จะทำให้สมองทำงานได้อย่างเต็มที่ วิตามินและเกลือแร่จากผักและผลไม้ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท อาหารจึงเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาวะของคนเราอย่างแท้จริง
นอกจากจะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว การหลีกเลี่ยงประเภทอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย โดยเฉพาะที่ส่งผลลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของสมองหรือที่เรียกสั้นๆว่า อาหารทำลายสมองนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจมากขึ้น เนื่องจากอาหารบางประเภทควรรับประทานในปริมาณไม่มากจึงจะเกิดประโยชน์ หากรับประทานมากจะเกิดโทษต่อร่างกาย ขณะที่บางประเภทควรหลีกเลี่ยงไม่รับประทานเลย ต่อไปนี้เป็น 7 ลักษณะอาหารทำลายสมองที่ต้องระมัดระวังในการบริโภค
1.มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง - กรดไขมันอิ่มตัวสูงพบในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงน้ำมันจากพืชจำพวกน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว เมื่อรับประทานปริมาณมากจะทำให้มีปริมาณคอเลสเตอรอลและไขมันตัวร้าย (LDL) ในเลือดมากเกินความต้องการจนสร้างคราบไขมันเกาะในผนังหลอดเลือดแดง เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองอุดตันและขาดเลือดได้
2.มีปริมาณน้ำตาลสูง - น้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดละลายน้ำที่ให้พลังงานและกระตุ้นการทำงานของสมองได้ดี ทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า หากบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบหรือปรุงด้วยน้ำตาลเกินจำเป็น อาทิ เบเกอรี่ ขนมหวานหรือน้ำอัดลม ร่างกายจะแปลงน้ำตาลส่วนเกินให้เก็บสะสมเป็นไขมัน เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองอุดตันได้เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
3.มีปริมาณโซเดียมสูง - โซเดียมหรือที่รู้จักโดยทั่วไปว่า เกลือ เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายในการปรับสมดุลของน้ำและแร่ธาตุระหว่างเซลล์ อาหารหลายชนิดมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ อาทิ เครื่องปรุงรส อาหารแปรรูป อาหารปรุงด่วน ขนมขบเคี้ยว ซึ่งทำให้เรามีโอกาสได้รับโซเดียมในปริมาณมากเกินจำเป็น ทำให้ไตและหัวใจต้องทำงานหนัก ความดันโลหิตสูงและมีความเสี่ยงที่เส้นเลือดในสมองแตกได้
4.มีส่วนผสมของคาเฟอีน - คาเฟอีนเป็นสารเคมีตามธรรมชาติที่พบได้ในพืชจำพวกชา กาแฟ ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้เกิดการตื่นตัวและรู้สึกผ่อนคลาย มักถูกนำไปผสมในเครื่องดื่มชูกำลังหรือน้ำอัดลม หากเสพติดหรือได้รับในปริมาณมากจะทำให้สมองถูกกระตุ้นบ่อยจนเกิดความสับสน กระสับกระส่าย หัวใจเต้นผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ซึ่งอาการอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
5.ใส่ผงชูรสปริมาณมาก - ผงชูรสเป็นสารปรุงแต่งรสชาติที่ผ่านกระบวนการทางเคมีตกผลึกกรดกลูตามิกให้เป็นโมโนโซเดียมกลูตาเมตซึ่งไปกระตุ้นประสาทการรับรสชาติอาหาร ไม่เป็นอันตรายหากใช้ในปริมาณน้อย แต่อาจมีผลทางสุขภาพกับคนที่แพ้ผงชูรส โดยจะมีอาการเชื่อมโยงกับประสาทการรับรู้ อาทิ วิงเวียนศีรษะ เจ็บกล้ามเนื้อ ลิ้นชา ปากบวม รู้สึกกระสับกระส่าย และอาจมีอาการแพ้ร่วมด้วย
6.ใส่วัตถุกันเสีย - อาหารที่ใช้วัตถุกันเสียหรือสารกันบูดเพื่อรักษาสภาพและยืดอายุการเก็บรักษาถือเป็นเรื่องที่พบเจอได้เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็งหรือเครื่องดื่ม แม้จะมีมาตรฐานควบคุมปริมาณการใช้ แต่หากบริโภคเป็นเวลานานซึ่งนอกจากเกิดการสะสมในร่างกายแล้ว บางชนิดยังมีผลต่อความสามารถในการพาออกซิเจนหมุนเวียนในระบบเลือดจนทำให้เซลล์สมองเสื่อมสภาพลง
7.มีสารเคมีตกค้าง - อาหารสดและอาหารสำเร็จรูปมักมีสารเคมีตกค้างจากการผลิตโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่มีการใช้ยากำจัดศัตรูพืช แม้จะมีการทำความสะอาดก่อนเข้าสู่กระบวนการแปรรูปแต่ยังคงมีสารเคมีตกค้างอยู่ในปริมาณมาก ขณะที่อาหารทะเลบางชนิดมีการเก็บสะสมสารปรอทหรือสารพิษจากแหล่งอาศัย หากบริโภคเป็นเวลานานย่อมส่งผลต่อการเจ็บป่วยเกี่ยวกับระบบประสาท
อาหารนับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นอกจากมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแล้ว การให้ความใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารแต่ละมื้ออย่างเหมาะสมนั้น ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสมองและหลีกเลี่ยงภาวะการเจ็บป่วยที่ไม่พึงประสงค์ได้