วธ.จับมือกับ ม.สวนสุนันทา ระดมสมองนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ วิจัยวัฒนธรรมคนไทยสู้โควิด-19 คาดใช้เวลารวบรวมข้อมูล 3 เดือน
วันนี้ (28 เม.ย.) นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ออกมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้นส่งผลให้จำนวนติดเชื้อภายในประเทศลดจำนวนลงเรื่อยๆ ทำให้ผู้นำจากนานาประเทศต่างออกมาชื่นชมการดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพของไทย ที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนที่ตระหนักถึงการป้องกันโรค ซึ่งทั้งหมดให้วิถีชีวิตของคนไทยต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดดังกล่าวเพื่อให้วิกฤติผ่านพ้นไปโดยเร็ว เป็นการสะท้อนว่า วัฒนธรรมของคนไทยที่สั่งสมมานั้น มีส่วนสำคัญต่อการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาบังคับใช้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ วธ.จึงประสานการทำงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เพื่อดำเนินการศึกษาวิจัยวัฒนธรรมของคนไทยออกมาถอดบทเรียน เพื่อจัดทำเป็นองค์ความรู้ให้สังคมและทั่วโลกรับทราบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ใช้ภาคส่วนต่างๆ นำไปใช้ควบคู่กับการดูแลป้องกันโรคให้ดียิ่งขึ้น
ในเบื้องต้นได้วางกรอบการทำงานโดยให้มหาวิทยาลัยสวนสุนันทาร่วมกับนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม ระดมความคิดเห็นและนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนไทยจัดทำเป็นผลงานวิจัยเชิงคุณภาพแบบ 2 ภาษา คือ ไทย และอังกฤษ เริ่มดำเนินการทันทีควบคู่ไปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงและรอบด้านมากที่สุด คาดว่าจะใช้เวลารวบรวมข้อมูลเป็นเวลา 3 เดือน เริ่มศึกษาข้อมูลนับตั้งแต่ช่วงที่เริ่มเกิดการระบาดของโรค นำไปสู่การออกมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งการปิดสถานประกอบการประเภทต่างๆ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดภายในประเทศ มาตรการการรักษาพยาบาลที่มีการระดมสรรพกำลังหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์รักษาผู้ติดเชื้ออย่างเต็มที่ ตลอดมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือที่ไม่เพียงมาจากภาครัฐเท่านั้น แต่ยังเห็นถึงความเอื้ออาทรที่มาจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ จิตอาสา ที่ต่างออกมาแสดงรวมพลังให้การช่วยเหลือทั้งการแจกอาหาร ตั้งโรงทานให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบทุกสาขาอาชีพให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันต่อไปได้
“หลายประเทศออกมาชื่นชมประเทศไทย ว่า มีมาตรการที่ดีในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 สะท้อนถึงความร่วมมือทุกภาคส่วน เป็นสังคมรู้รักสามัคคีสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของวัฒนธรรมของคนไทย ควรมีการถอดบทเรียนออกมาเป็นงานวิจัยรองรับ ซึ่งจะสามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและการป้องกันโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก และหากประเทศอื่นที่สนใจสามารถนำไปเป็นต้นแบบ อีกทั้งยังเป็นการปลุกความรู้สึกภาคภูมิใจของคนในประเทศ เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังได้เห็นว่า วัฒนธรรมความเป็นไทยช่วยให้การป้องกันโรคต่างๆ มีประสิทธิภาพ” นายกฤษศญพงษ์ กล่าว