xs
xsm
sm
md
lg

อย่าชิลเกินไป! พบไม่สวม “หน้ากาก” แม้เจ็บป่วย 4% เสี่ยงทำระบาดอีก แจง 42 ต่างด้าวติดเชื้อรวด เพราะถูกขังรวมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ยันผู้ป่วยโควิด-19 อายุมากสุด 97 ปี ที่ภูเก็ต หายกลับบ้านแล้ว อาการไม่ได้รุนแรงมาก เตือนคนยังไม่สวมหน้ากากแม้เป็นไข้เป็นหวัดถึง 4% ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น เหตุสบายใจเกินไปหลังยอดป่วยลด หวั่นทำกลับมาระบาดใหม่ได้ ย้ำ สวมหน้ากากทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เผยกลุ่มต่างด้าวผิด กม.ติดเชื้อรวดเดียว 42 คน เพราะถูกจับรวมกัน ต้องจำกัดวง แยกป่วย-ไม่ป่วย ครบ 14 วัน ค่อยดันกลับประเทศ

วันนี้ (26 เม.ย.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ประชาชนเริ่มผ่อนคลายจากการมีผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง ทำให้บางส่วนเริ่มเดินทางมากขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ความตระหนักในการป้องกันโรค เช่น รักษาระยะห่าง 1-2 เมตรขึ้นไป จะทำให้ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ รวมถึงการใช้หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย แต่จากการสำรวจของกรมควบคุมโรค 5 ครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของหากมีอาการไข้ อาการหวัด จะสวมหน้ากากป้องกันโรคหรือไม่ การสำรวจครั้งที่ 4 คนตอบว่าไม่สวมมี 0.3% แต่ครั้งที่ 5 ตัเลขกลับเพิ่มขึ้นมาเป็น 4% แม้ภาพรวมจะยังตอบว่า สวมเพื่อป้องกันไม่ให้รับเชื้อหรือแพร่เชื้อ 94% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่สูงก็ตาม โดยการสำรวจพบว่า คนใช้หน้ากากผ้า 53% หน้ากากอนามัย 40%


“กลุ่มตอบว่าไม่สวมหน้ากาก 4% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่อจจะผ่อนคลายจากจำนวนผู้ป่วยลดลง เพราะจะเห็นว่าการสำรวจครั้งก่อนจะเห็นว่าตัวเลขไม่สวมลดลงเหลือ 0.3% รวมถึงอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และตัวเองไม่ได้มีความเสี่ยงอาการรุนแรง ทั้งนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะถ้าเริ่มมีกิจกรรมกลับมาทำงาน มีการพบปะกันเพิ่มขึ้น การใช้หน้ากากจะเป็นปราการด่านสุดท้ายป้องกันเชื้อออกจากคนมีเชื้อแต่อาจมีอาการน้อยๆ หรือป้องกันคนปกติแข็งแรงไม่ให้รับเชื้อ การที่ทุกคนช่วยกันจะเพิ่มความปลอดภัยภาพรวมสังคมไทย ที่ต้องกระตุ้นเตือน เพราะหากไม่ทำให้ตระหนัก เมื่อเริ่มหย่อนยาน ก็จะทำให้การ์ดตก คนไม่สวมมากขึ้นก็อาจกลับมาระบาดอีกได้” นพ.โสภณ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ป่วยรายวันลดลงเหลือหลักสิบ เหมือนก่อนหน้าที่จะมีการล็อกดาวน์ มีความแตกต่างอย่างไร การคลายล็อกดาวน์จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป นพ.โสภณ กล่าวว่า แม้ตัวเลขจะเหมือนเมื่อก่อน แต่ในรายละเอียดมีความแตกต่างกันอยู่มาก เมื่อก่อนจำนวนผู้ป่วยมาจากการติดเชื้อนอกประเทศ แต่ปัจจุบันเป็นการติดเชื้อในประเทศ ซึ่งธรรมชาติคนต่างชาติไม่ได้มีการใกล้ชิดกับคนไทยมาก แต่คนไทยมีปฏิสัมพันธ์กันมากจึงน่ากลัวกว่า ดังนั้น เราจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง และจัดระเบียบกันใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของชีวิตวิถีใหม่ (New Norm) ที่จะต้องมี เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโรค ซึ่งรัฐบาลเตรียมการกันอยู่ มิเช่นนั้น หากยังทำตัวแบบเดิมก็อาจกลับมาระบาดใหม่ได้ และจะเป็นการเสียโอกาสที่เราสามารถคุมโรคได้ดีแล้ว

เมื่อถามถึงผู้ป่วยโควิด-19 อายุ 97 ปีรักษาหายแล้วใช่หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 อายุมากที่สุดในไทย คือ อายุ 97 ปี ที่ จ.ภูเก็ต ขณะนี้รักษาหายกลับบ้านได้แล้ว โดยรายนี้ถึงแม้เป็นผู้สูงอายุแต่ก็ไม่ได้มีความรุนแรงมาก อาจเพราะเนื่องจากได้รับเชื้อน้อย และมีการดูแลรักษาอย่างดี

เมื่อถามถึงการเฝ้าระวังกลุ่มต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย นพ.โสภณ กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย จะถูกกักตัวในสถานที่รัฐกำหนด 14 วัน เมื่อปลอดภัยก็จะกลับไปอยู่ในชุมชนได้ ซึ่งทุกวันนี้กำหนดให้เข้ามาวันละประมาณ 100 คน ในด่านใหญ่ และไม่เกิน 50 คนในด่านเล็ก การที่มีจำนวนคนไม่มากแล้วนำไปกักตัว 14 วันเป็นการสร้างความปลอดภัย คนส่วนใหญ่ที่เดินทางได้วัยทำงานอาการไม่เยอะ ถ้าไปอยู่ 14 วัน ถ้ามีเชื้อก็ค่อยๆ กำจัดเชื้อออกไป ส่วนคนไม่มีเชื้ออยู่ปลอดภัยค่อยออกมา เหมือนเป็นเซฟโซนที่ปลอดภัยให้เขาไปอยู่ ถ้ามีไข้ก็ได้รับการตรวจวินิจฉัยเร็วกว่าการไปอยู่ในชุมชน และยังไม่มีใครตายจากการกักตัวของรัฐ มีแต่เจอป่วยแล้วรักษาทันที

ถามต่อว่า การติดเชื้อของต่างด้าวในศูนย์กักตัว อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ติดรวดเดียว 42 คน เกิดขึ้นจากอะไร ทำไมถึงแตกต่างอย่างไรกับกลุ่มที่กักตัว 14 วัน นพ.โสภณ กล่าวว่า เนื่องจากเป็นการถูกจับเพราะเข้ามาผิดกฎหมาย จึงถูกขังไว้ในที่เดียวกัน เพราะหากเข้ามาถูกกฎหมายก็ถูกกักตัวในสถานที่กำหนดก็จะไม่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจาย ตรงนี้อาจต้องจัดระเบียบผู้รับผิดชอบพยายามเพิ่มพื้นที่อาคาร ตอนนี้ก็แยกคนไม่ป่วยออกมาให้ชัดเจนเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ซึ่งในศูนย์กักตัวที่สะเดาก็มีมากกว่า 90 คน ก็มีการแยกออกมาอยู่อีกตึกหนึ่งใครป่วยอยู่จุดหนึ่ง ไม่ป่วยอยู่อีกจุดหนึ่ง และก็กักตัว 14 วันให้ครบระยะการฟักตัวของเชื้อ จึงผลักดันกลับประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น