สธ.เผยต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ติดโควิด 42 คน ที่ อ.สะเดา จะเร่งรักษาให้หายก่อนผลักดันกลับประเทศ เข้มตรวจกลุ่มลักลอบเข้าเมืองเพิ่ม เผย ไทยกำลังถอยกลับสู่สถานการร์ระบาดในวงจำกัด เผย 9 มาตรการต้องทำต่อเนื่อง เพื่อลดระบาด ส่วนการผ่อนคลายมาตรการจะเริ่มจากกลุ่มเสี่ยงต่ำ
วันนี้ (25 เม.ย.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 53 ราย เป็นการตรวจตามปกติ 11 ราย และกลุ่มแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองจำนวน 42 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการควบคุมตัวในศูนย์กักขังผู้หลบหนีเข้าเมือง ของด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา พบว่า บางรายมีอาการคล้ายไข้หวัด จึงนำตัวไปตรวจ พบว่า ติดเชื้อโควิด-19 จากนั้นขยายผลการตรวจ พบว่า มีการติดโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน จึงให้กักตัวเพื่อรักษาให้หายก่อนผลักดันกลับประเทศต่อไป พร้อมได้ประสานสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ให้มีมาตรการตรวจคัดกรองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่อยู่ระหว่างกักขังอย่างเข้มงวดตามลำดับต่อไป
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดในไทยนั้น ก่อนหน้านี้ เราเริ่มจากมีผู้ป่วยนำเข้า แล้วแพร่ระบาดในวงจำกัด และก็แพร่ระบาดออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น ตอนนี้เรากำลังถอยกลับมาอยู่ในการแพร่ระบาดในวงจำกัด หมายความว่า มาตรการที่เราควรจะต้องทำต่อนั้น คือ 1. การสร้างเสริมความรู้ด้านการป้องกันควบคุมโรค เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้เราปลอดเชื้อทั้งในบ้าน การเดินทาง ที่ทำงาน 2. การส่งเสริมอนามัยส่วนบุคคล การล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากผ้า ต้องใส่ต่อให้ได้เกือบ 100% 3. การเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น ผู้โดยหาติดเชื้อรายใหม่ให้ได้เร็วที่สุด เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด และค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ซึ่งทำหลายพื้นที่ในพื้นที่เสี่ยง มีหลายจังหวัดเร่งดำเนินการรวมทั้ง กทม. 4.การสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสเมื่อเจอผู้ป่วยรายใหม่ แยกออกมาตามไป 14 วัน แม้ติดเชื้อก็ไม่แพร่โรคต่อ
5. การเตรียมความพร้อมระบบการจัดการฉุกเฉิน ยังต้องทำต่อไป เพื่อทำงานด้านต่างๆ หากมีผู้ป่วยเพิ่มเติม ในระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์จังหวัด 6. ป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตคือผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง 7.การเตรียมความพร้อมรบบดูแลรักษาผู้ป่วย 8. การป้องกันการติดเชื้อใน รพ. และ 9. การเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล เช่น การทำงานที่บ้าน การเรียนออนไลน์ เหลือามเวลาการทำงาน เพื่อลดความแออัดในระบบขนส่งสาธารณะ การทำธุรกรรมออนไลน์ทั้งภาครัฐและเอกชน ปรับรุงสถานประกอบการ ร้านค้า และกิจการต่างๆ
“ส่วนมาตรการผ่อนปรนของมาตรการภาคบังคับต่างๆ เช่น การจำกัดการเดินทางว่าจะให้เดินทางกว้างขวางขึ้นได้อย่างไร การปิดกิจการที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ก็อาจมีการพิจารณาให้เปิดได้ที่ไหนยังต้องชะลอ การประกาศห้ามออกเคหสถาน อันไหนจะทยอยผ่อนปรนก่อนตอนไหนก็ต้องคอยติดตามต่อ” นพ.ธนรักษ์ กล่าวและว่า การกำจัดโรคให้หมดไปทำได้ค่อนข้างยาก เราสามารถควบคุมให้มีการแพร่ระบาดของโรคในระดับต่ำได้ ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่จะกลับมามีผู้ป่วยจำนวนเพิ่มขึ้นจะแปรผันกับระดับความสามารถในการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การจะเปิดกิจการต่างๆ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงโครงสร้าง วิธีการให้บริการ การทยอยผ่อนคลายมาตรการคงเป็นกิจการความเสี่ยงต่ำก่อน และติดตามประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด ว่า ถ้าความเสี่ยงไม่ได้เพิ่มขึ้นจะทำอย่างไรต่อ ไม่ได้แปลว่าผ่อนคลายมาตรการแล้วกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมได้