xs
xsm
sm
md
lg

ยอดนักดื่มลดฮวบ 48.5% หยุดดื่มลดเสี่ยงโควิด เหตุรับรู้เพิ่มเสี่ยงติดเชื้อ-อาการรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา” ปลื้มนักดื่ม ร้อยละ48.5 หยุดดื่ม ลดเสี่ยงโควิด-19 ชี้ คนไทยส่วนใหญ่รู้ว่าการดื่มเหล้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดและทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ด้านแกนนำชวนคนเลิกเหล้า เตือนต้องหยุดการตั้งวงเหล้าเด็ดขาด ใช้โอกาสนี้ลด ละ เลิก เก็บเงินไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น

วันนี้ (24 เม.ย.) ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่วาว่า จากการสำรวจประชาชนใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ โดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ดำเนินการโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,566 คน ซึ่งมีสัดส่วนหญิงชายพอๆ กัน และมีการกระจายของลักษณะประชากรในทุกกลุ่มอายุ อาชีพ ระดับการศึกษา และที่อยู่ทั้งในเขตและนอกเขตเทศบาล ที่เป็นตัวแทนของประชากรไทย เก็บข้อมูลในวันที่ 18-19 เมษายน 2563 พบว่า

ในช่วง 30 วันที่ผ่านมานี้ นักดื่มสุราเกือบครึ่ง (ร้อยละ 48.5) ไม่ได้ดื่มเลย ร้อยละ 33.0 ดื่มน้อยลง ขณะที่ร้อยละ 18.2 ดื่มเท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ0.3 ที่ดื่มบ่อยขึ้น เหตุผลหลักที่ทำให้นักดื่มเหล่านี้หยุดดื่มหรือดื่มน้อยลง คือ หาซื้อไม่ได้/ซื้อยาก กลัวเสี่ยงติดเชื้อ รายได้น้อยลง/ไม่มีเงินซื้อ และต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดื่มเท่าเดิมหรือเพิ่มมากขึ้นบอกเหตุผลว่า เพราะชอบดื่มสังสรรค์ และมีคนชวนดื่มจึงขัดไม่ได้ รวมทั้งเพราะเครียดและมีเวลาว่างมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 77.1) ดื่มที่บ้าน หรือที่พักของตัวเอง และกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ37.0) ดื่มกับคนในครอบครัว โดยตัวอย่างร้อยละ 35.8 ระบุว่าได้ซื้อเครื่องดื่มตุนไว้ก่อนที่จะมีประกาศห้ามขาย ที่น่าสังเกตคือ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ตุนไว้ก่อน มีถึงร้อยละ 16.2 ยังหาซื้อได้จากร้านขายของชำในชุมชน/หมู่บ้าน นอกจากนี้ ร้อยละ 15.7 ระบุว่า ยังพบเห็นการดื่มสังสรรค์ในชุมชน/หมู่บ้าน และร้อยละ 5.8 ยังพบเห็นว่า มีการขายในชุมชน/หมู่บ้าน ในช่วงวันที่ประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าวว่า เมื่อสอบถามถึงการได้รับความเดือดร้อนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตัวอย่างร้อยละ 67.8 ระบุว่า สูญเสียรายได้ ร้อยละ 53.5 ระบุมีความยากลำบากในการทำงาน/ ประกอบอาชีพ และร้อยละ 32.8 ระบุยากลำบากในการกินอยู่ ที่น่าพิจารณาคือ ร้อยละ 26.4 มีความเครียด วิตกกังวล ร้อยละ 24.9 มีค่าครองชีพ/ค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมถึงร้อยละ 12.1 ตกงาน/ถูกเลิกจ้าง มีเพียงส่วนน้อย (ร้อยละ 9.1) ที่ไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆ ในทางตรงข้าม หากสอบถามถึงความเดือดร้อนในช่วงห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ตัวอย่างประมาณร้อยละ 90.5 ระบุไม่ได้รับความเดือดร้อนใดๆ มีเพียงร้อยละ 5.9 เดือดร้อนจากการไม่ได้ดื่มสังสรรค์ ร้อยละ 3.6 เสียรายได้จากการขาย หรือเสียรายได้จากการปิดร้านอาหาร/สถานบันเทิง และมีร้อยละ 0.3 หรือ 5 รายจากตัวอย่างทั้งหมดที่มีอาการถอนพิษเหล้า นอกจากนั้น จากการสำรวจยังพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 73.6) ทราบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และร้อยละ 77.6 ทราบว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และอาจป่วยรุนแรง

“ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดนี้อาจมีส่วนดีในการช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญอันหนึ่งของคนไทยลง และประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงนี้ รวมทั้งประชาชนจำนวนมากมีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการติดเชื้อโควิด-19” ศ.พญ.สาวิตรี กล่าว

ด้าน นายวันชัย เหี้ยมหาญ ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าภาคตะวันตก และผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านหนองกอก ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กล่าวว่า เมื่อมีการห้ามขายเหล้าของจังหวัดในวันที่ 11 เมษายน 2563 ตนเองพร้อมผู้ช่วยฯ อสม. ได้สำรวจผู้ดื่มในชุมชน พบว่า มี 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ติดหนัก จำนวน 7 ราย กลุ่มที่ดื่มแบบคึกคะนอง มักสร้างปัญหาจำนวน 16 ราย กลุ่มที่ดื่มในบ้าน กินก่อนอาหารก่อนนอน ก่อนไปทำงาน จำนวน 26 ราย และกลุ่มที่ดื่มบางครั้งตามโอกาส ดื่มในงาน หรือเพื่อนมาเยี่ยม ซึ่งคณะทำงานได้เฝ้าระวังอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ติดสุรา โดยได้คุยกับญาติไว้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดภาวะเสี้ยนเหล้า เช่น เหงื่อออก มือสั่น เพ้อคลั่ง จะมีอาการเป็นลม ต้องการมีเหล้าตุนไว้ แต่ก็ขอร้องให้ผู้ดื่มลดละในช่วงนี้ พบว่า มี 1 รายที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วใช้โอกาสนี้งดดื่มไปกว่า 10 วัน คาดว่า จะสามารถเลิกได้ต่อไป แต่ต้องมีการติดตามให้กำลังใจ ส่วนรายอื่นๆ ยังไม่สามารถงดได้ทางญาติต้องคอยดูแล ส่วนกลุ่มที่มักสร้างความเดือดร้อนคึกคะนอง ตอนนี้ไม่มีการตั้งวงดื่มตามศาลาเหมือนแต่ก่อน และปกติถ้าช่วงนี้จะมีงานบวชประจำปีมักมีการเลี้ยงเหล้าเกิดปัญหาความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้มักจะเป็นต้นเรื่อง ปีนี้งดงานบวชทำให้ไม่เกิดปัญหาขึ้นมาเหมือนทุกปี

“จากการติดตามสอบถามคนในชุมชน มีเด็กบอกว่าพ่อไม่ต้องกินเหล้าทำให้ไม่ต้องมาทะเลาะกับแม่ และยายก็ไม่ต้องร้องไห้ ส่วนร้านค้าในชุมชนซึ่งมี 4 ร้าน พบว่า ไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะกำไรจากเหล้าเบียร์ไม่ได้มาก ของอย่างอื่นยังขายได้ตามปกติ ที่ได้อีกอย่างคือได้นอนหลับสนิทเพราะไม่ต้องถูกเคาะประตูเรียกให้มาขายเหล้าตอนดึก ตนเองรณรงค์งดเหล้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถช่วยเหลือและเข้าใจนักดื่มในชุมชน และทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยทั้งเชื้อไวรัสและความเสี่ยงจากเหล้า หากมีการเปิดให้ซื้อขายเหล้าเบียร์ได้อีกครั้งต้องค่อยๆ เปิดและจำกัดเวลาจำกัดปริมาณเพื่อไม่ให้มีการกลับมาตั้งวง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดอีก ข้อสำคัญในช่วงนี้ควรงดการตั้งวงก๊งเหล้าเด็ดขาด และใช้โอกาสนี้ในการลด ละ เลิก เก็บเงินไว้ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นดีกว่า” นายวันชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น