ศบค.เผย “สิงคโปร์” ติดเชื้อโควิดสูงเป็นพันกว่าคน มาจากกลุ่ม “แรงงานต่างด้าว” เหตุอาศัยแออัดกันในหอพัก รวมห้องกันเกือบ 20 คน ระบุเริ่มติดเชื้อจาก 4 คน วันที่ 30 มี.ค. จนกลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ ต้องปิดหอพัก ห้ามเคลื่อนย้าย ส่งคนหายดี ผลลบไปอยู่บนเรือ ย้ำ ไทยต้องดูแลกลุ่มแรงงานต่างด้าว ให้รักษาระยะห่าง ป้องกันติดเชื้อ
วันนี้ (21 เม.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ประเทศในทางเอเชียที่ต้องจับตา คือ ญี่ปุ่น ในรอบ 24 ชั่วโมง มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 338 ราย ส่วนสิงคโปร์ มีเพิ่มขึ้น 1,426 ราย ถือว่าเยอะมาก หากดูจากกราฟจะเห็นว่าชันขึ้นมาก เกือบสูงสุดในกลุ่มประเทศอาซียนแล้ว จึงต้องมาเรียนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสิงคโปร์ และไทยจะได้บทเรียนอะไรมาปรับใช้ สำหรับอินโดนีเซีย เพิ่ม 185 ราย ฟิลิปปินส์ 200 ราย มาเลเซีย 36 ราย ส่วนของไทยยังคงนิ่งๆ อยู่
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีการวิเคราะห์สิงคโปร์ที่มีการเพิ่มการติดเชื้อนั้น พบว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำงานในสิงคโปร์ ซึ่งมีมากถึง 3.2 แสนคน และไปอยู่ตามหอพักต่างๆ จำนวน 43 แห่ง เป็นหอพักขนาดใหญ่ (เมกะดอม) มีคนอยู่เป็นพันๆ คนต่อหอพัก และห้องหนึ่งอาจอยู่รวมกัน 12-20 คนต่อห้อง การที่พื้นที่เล็ก จึงต้องไปอยู่กันจำนวนมาก โดยพบว่า มีรายงานแรงงานต่างด้าวรายแรกติดเชื้อ คือ ชาวบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. และเงียบหายไป จากนั้นมาติดเชื้อในกลุ่มก้อนใหญ่ในหอพัก S11 เมื่อวันที่ 30 มี.ค. เริ่มจากการติดเชื้อครั้งแรก 4 คน จากนั้นขยายมาเป็นกลุ่มก้อนใหญ่จนเป็นพันกว่าคนเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ถือเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ที่เร็วมาก
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สิงคโปร์มีการจัดการอย่างเต็มที่ โดยเข้าไปล็อกดาวน์หอพักเกือบรวม 43 แห่ง และตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลแรงงานตรงนั้น เพื่อหยุดไม่ให้มีการแพร่ระบาด โดยไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในระหว่างหอพักด้วยกัน และจัดการการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อป้องกันการเผยแพร่ระบาดในวงกว้าง แรงงานต่างด้าวทุกคนจะได้รับค่าจ้างระหว่างกักตัว และจัดทีมเข้าไปดูแลทุกอย่าง มีคลินิก สถานพยาบาลที่จะไปคัดแยกแถวบริเวณนั้นทั้งหมด และเคลื่อนย้ายแรงงานที่หายดีแล้ว มีผลเป็นลบให้ไปอยู่บนเรือ เพราะไม่มีพื้นที่เพียงพอ ซึ่งเรือรองรับได้ประมาณ 2 พันคน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนไทยเรียนรู้อะไรบ้าง ประเทศไทยก็มีแรงงานต่างด้าวเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ต้องเข้าไปดูแล โดยกรมอนามัย โดยหน่วยงานท้องถิ่น ต้องสแกนดูพื้นที่ทั้งหมดว่ามีแรงงานต่างด้าวมีความเป็นอยู่อย่างไร ต้องเข้าไปดูแลรักษาความสะอาดในพื้นที่ เน้นย้ำการมีระยะห่างทางสังคมของเขาด้วย และเรามีการส่งเสริมลักษณะการมีพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว ให้ไปดูแลซึ่งกันและกัน ซึ่งมีในหลายๆ จังหวัด หวังว่า สิ่งทีเราเรียนรู้จากสิงคโปร์จะมาเป็นมาตรการควบคุมและป้องกัน ซึ่งหากป้องกันมาก่อนควบคุมก็ดี คือ ยังไม่เกิดโรค ของเราถ้าป้องกันได้ หันไปดูแลพี่น้องต่างด้าวให้เขาอยู่อย่างดี ไม่เป็นโรคก็จะได้ปลอดภัยด้วย