โควิด-19 พ่นพิษ ศิลปินพื้นบ้านทุกแขนงทั่วประเทศ ไร้งานแสดง ขาดรายได้ มีแต่รายจ่าย ตอนนี้ใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก รู้สึกหดหู่ เริ่มหมดกำลังใจ วอนรัฐยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง
นายสมปอง ภักดีกิจ นายกสหพันธ์สมาคมโนราแห่งประเทศไทย เล่าว่า ตอนนี้ศิลปินพื้นบ้านโนรา หนังตะลุง ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่ต้นปี มีคนมาจ้างไปแสดงน้อยอยู่แล้ว โดยคนมาจ้างส่วนใหญ่กำหนดแสดงช่วงเดือนมีนาคม เมษายน สงกรานต์ ซึ่งมองว่าจะมีรายได้เข้ามาบ้าง พอมาเจอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 งานที่จ้างถูกยกเลิกหมด เรียกว่า ตกงาน ไม่มีรายได้มากว่า 2 เดือนแล้ว ศิลปินโนรา ส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่น เนื่องจากเสร็จจากการแสดงมักจะใช้เวลามาฝึกซ้อม พอไม่มีงานแสดง ก็ไม่มีเงิน แต่มีรายจ่ายทุกวัน บางคนนำเงินเก็บอันน้อยนิดมาเป็นค่าใช้จ่าย ส่วนคนที่ไม่มีเงินเก็บยิ่งลำบาก แล้วตอนนี้คิดจะลงทุนค้าขาย ก็ไม่มีความรู้ด้านการค้า ไม่มีเงินทุน ทำแล้วไม่รู้จะไปขายที่ไหน ขายใคร แม้แต่ตลาดที่เคยคึกคักตอนนี้เงียบเหงา คนไม่มีกำลังซื้อ และต่อให้โควิด-19 ไปแล้ว ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจ ธุรกิจการท่องเที่ยวจะกลับมาเฟื้องฟูเหมือนเดิมหรือไม่
“ปัจจุบันมีเครือข่ายคณะโนรา และนักแสดงอิสระ รวมกว่า 1,500 คน ซึ่งคนเหล่านี้เป็นผู้อนุรักษ์ สืบทอดมรดกภูมิปัญญาโนรา อยากวอนขอรัฐบาล ช่วยส่งเจ้าหน้าที่ลงมาดูแลความเป็นอยู่ของเขาเหล่านี้บ้าง อย่าให้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง” นายสมปอง กล่าว
ขณะที่ นายไทย ทิพย์เนตร นายกสมาคมศิลปินขับซอล้านนา เล่าว่า ศิลปินล้านนา น่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่างจากศิลปินพื้นบ้านอื่นๆ เพราะงานถูกยกเลิกทั้งหมดเหมือนกัน ซึ่งศิลปินล้านนา หลายคนโทรศัพท์มาบ่น เล่าความลำบากที่เผชิญอยู่ บางคนบอกไม่มีข้าวสารจะกรอกหม้อ บางคนบอกข้าวที่ปลูกตายหมด เพราะไม่มีน้ำ ปีนี้แห้งแล้งมาก ฝนไม่ตก บางคนจะออกไปรับจ้างก็ไม่มีใครจ้าง ผมรับฟังและทำได้แค่พูดให้กำลังใจว่าอย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งสิ้นหวัง อย่างไรก็ตาม ในใจลึกๆ ผมหวังว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลศิลปินพื้นบ้านบ้าง กระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับการติดต่อจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด แจ้งให้สำรวจจำนวนศิลปินที่อยู่ในสมาคมฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งผมรีบแจ้งไปยังเครือข่ายศิลปินให้รวบรวมรายชื่อและเอกสาร โดยในใจหวังลึกๆ พวกเราจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลบ้าง หากไม่ได้ 5 พันเหมือนคนอื่น ขอซัก 3 พันบาทต่อเดือนก็ยังดี พอนำเงินไปซื้ออาหารหล่อเลี้ยงชีวิตในช่วงนี้
ด้าน นายวันชัย เอนกลาภ นายกสมาคมลิเกแห่งประเทศไทย บอกว่า โควิด-19 แพร่ระบาด เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกคนได้รับผลกระทบ ส่วนจะมากน้อยแตกต่างกันไป ส่วน ลิเก เป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีใครจ้าง ซึ่งช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะเป็นช่วงที่มีรายได้เข้ามาจำนวนมาก พอถูกยกเลิกกะทันหัน แบบไม่ทันตั้งตัว จึงได้รับความเดือดร้อน ไม่มีเงิน อย่างบางคนมีรายจ่ายค่ารักษาตัว ป่วยเป็นโรคไต จำเป็นต้องไปล้างไต ผมพอมีเงินเก็บอยู่เล็กน้อยก็แบ่งปันให้ครั้งละ300 บาท ครั้งละ 500 บาท จุนเจือกันไป มีบางคนเพิ่งคลอดลูก เดือดร้อนไม่มีเงินซื้อนม ก็ควักเงินให้ คือช่วยๆ กันในยามยากเท่าที่จะทำได้
“ผมก็ไม่ค่อยมีเงินหรอก อายุมากแล้ว ก็ไม่ค่อยได้รับแสดงลิเก ที่กินอยู่ทุกวันนี้ก็ได้จากลูกให้ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีใครจ้าง ไม่มีรายได้ ก็ต้องแยกย้ายกันไปหาช่องทางทำกินอย่างอื่นชั่วคราว คงเคยเห็นลิเกสู้ชีวิตแต่งชุดลิเกมาร้องลิเกขายกับข้าว ทำงานสุจริตไม่ต้องอายใคร ตอนนี้ลิเกจำนวนมากอยู่ในภาวะลำบาก อย่างที่บอก บางคนป่วย บางคนมีลูกอ่อน ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ล้วนแล้วแต่มีค่าใช้จ่ายมากมายรออยู่ ขณะที่ไม่มีรายได้เข้ามาเลย อยากวอนขอให้รัฐบาลช่วยศิลปินลิเก รวมทั้งศิลปินพื้นบ้านอื่นๆ ด้วย”
นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เล่าให้ฟังว่า ได้มอบหมายให้สภาวัฒนธรรมทั่วประเทศ สำรวจกลุ่มศิลปินพื้นบ้าน และเครือข่ายผู้ประกอบการด้านศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ในเบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีกว่า 26,000 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบกับการลงบัญชีรับเงินเยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาล โดยจะส่งรายชื่อให้กับกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาแยกเป็นกลุ่มศิลปินที่ชัดเจน ลักษณะเดียวกับกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและไม่ซ้ำซ้อนกัน อีกทั้งยังเป็นการแบ่งเบาภาระการตรวจสอบข้อมูลได้เร็วขึ้น
“วัฒนธรรมจังหวัดได้ทำการสำรวจข้อมูลจากเครือข่ายศิลปินที่มีอยู่ และรับทราบว่า ทุกสาขาต่างก็เดือดร้อนขาดรายได้กันหมด จากที่เคยอยู่รับงานแสดงเป็นวง ก็ต้องแยกย้ายกันคนละทิศละทาง บางคนก็กลับไปอยู่กับครอบครัวเพื่อความอยู่รอด แต่ได้ส่งสัญญาณไปยังหัวหน้าวงต่างๆ ได้ส่งรายชื่อของคณะมาให้กับ วธ.เพื่อขอรับการเยียวยาจากรัฐบาลที่มีนโยบายช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน ยืนยันว่า วธ.จะไม่ทอดทิ้ง และจะดูแลเครือข่ายพี่น้องศิลปินพื้นบ้าน และเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมทุกกลุ่มให้ได้รับเงิน 5,000 บาทเช่นเดียวกัน เพราะทุกท่านถือเป็นผู้ที่ร่วมสืบสานมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดิน” นายกฤษศญพงษ์ กล่าว