สธ.เผยไทยมีอัตราป่วยตายจากโควิด 1.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ที่ 6% ชายตายมากกว่าหญิง 4 เท่า เป็นคนแก่ 20% พบคนตายมีเบาหวานร่วมมากสุด 41% เหตุทำภูมิคุ้มกันอ่อนลง ตามด้วยความดัน 36% ย้ำ ยังต้องล้างมือ รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากผ้า แม้มีผ่อนบางมาตรการ เตือนกลุ่มแจกของจนคนไปออแน่น ยิ่งเสี่ยงติดเชื้อ ต้องจัดการพื้นที่เว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนคน
วันนี้ (17 เม.ย.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย อยู่ในระดับที่ดี โดยผู้ป่วยรายใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ลดลงเล็กน้อย อย่าง 28 รายใหม่วันนี้ พบว่า เป็นสัมผัสผู้ป่วยรายงานก่อนหน้า 16 คน พบในสถานที่อื่น 5 คน เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า พนักงานของโรงงาน สถานบันเทิง เคยทำงานกับบริษัททัวร์ คือ ความเสี่ยงยังมีอยู่แต่ไม่มาก ไม่มีผู้ติดเชื้อเดินทางจากต่างประเทศ หลังงดเที่ยวบินโดยสารตั้งแต่ต้น เม.ย. เรื่องน่าเสียใจ คือ ผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 85 ปี ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีการแจ้งเตือนเป็นระยะ คือ มีอายุมากและมีโรคประจำตัวหลายโรค
นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 2,700 ราย เสียชีวิต 47 ราย อัตราการป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 1.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ 6% ทั้งนี้ พบว่าเป็นผู้สูงอายุ 20% โดยผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี อัตราตายอยู่ที่ 12% สำหรับผู้ชายเสียชีวิตสูงกว่าผู้หญิง 4 เท่า สำหรับการติดในผู้สูงอายุมักมาจากคนอายุช่วง 30-49 ปี ที่ออกไปข้างนอก เช่น ไปตลาด แล้วนำมาติดภายในครอบครัว จึงต้องระมัดระวังเรื่องเหล่านี้ เพราะหากไม่ป่วยก็จะไม่เสียชีวิต สำหรับการวิเคราะห์ผู้เสียชีวิต พบว่า ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว โดยเป็นโรคเบาหวานมากสุด 41% โรคความดันโลหิตสูง 36% ไขมันในเลือดสูง 18% โรคหัวใจ 14% โรคไต 9% ภาวะอ้วน 7% และอื่นๆ 14% อาทิ โรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษา โรควัณโรค เอสแอลอี ตับ ปอด ถุงลมโป่งพอง แต่ก็มีบางส่วนเสียชีวิตโดยไม่มีโรคประจำตัว
“จริงๆ แล้วคนไทยป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากกว่า แต่ที่โรคเบาหวานมีการเสียชีวิตสูงกว่า เพราะเป็นโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง โดยเฉพาะคนที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี ซึ่งเมื่อมีน้ำตาลจำนวนมาก น้ำตาลก็จะไปเกาะกับเม็ดเลือดขาว ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค ก็ทำให้ภูมิคุ้มกันเราต่ำลง ส่วนคนที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ อาจเสี่ยงน้อยกว่าแต่ก็มีโอกาสรุนแรงได้ เพราะมีพยาธิสภาพของเส้นเลือดต่างๆ ที่อาจเกิดความเสียหายไปเช่นกัน” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ยอดการป่วยของไทยอยู่ในช่วงขาลง แต่ในส่วนของอัตราการเสียชีวิตยังต้องรอดูอีก 1 สัปดาห์ ถึงจะพอบอกได้ว่า สถานการณ์การระบาดในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางไหน เนื่องจากระยะเวลาของการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 3-4 สัปดาห์ คือ ช่วงเริ่มป่วย 1 สัปดาห์ ช่วงอาการน้อย 1 สัปดาห์ อาการรุนแรง 1 สัปดาห์ และนำมาสู่การเสียชีวิต สำหรับการกลับมาใช้ชีวิตปกติต้องเป็นรูปแบบใหม่ ที่ต้องล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากผ้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลดีคนไทยมีการสวมหน้ากากผ้ามากกว่า 95% และองค์การอนามัยโลกก็แนะนำ ซึ่งต้องขอให้ทำเช่นนี้ต่อไป เพราะถือว่าได้ผลดีมากกว่าวัคซีน
เมื่อถามถึงการรักษาผู้ป่วยของไทยค่อนข้างใช้เวลานาน นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้แนวทางการรักษาสำหรับผู้ป่วยอาการน้อยอยู่ที่ 14 วัน ซึ่งหากเป็น กทม.จะอยู่ใน รพ. 7 วัน และออกมาดูแลต่อที่หอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 หรือ ฮอสปิเทลต่ออีก 7 วัน จนครบ 14 วัน ส่วนต่างจังหวัดอาจจะอยู่ใน รพ.จนครบ 14 วัน ถึงให้กลับบ้านได้ ซึ่งระยะเวลา 14 วัน ถือเป็นระยะเวลาที่ปลอดภัย แม้ที่ผ่านมาจะมีคนในชุมชนกังวลถึงผู้รักษาหายว่าจะแพร่เชื้อหรือไม่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำตัวอย่างเชื้อจากผู้ป่วยประมาณ 4-5 ราย ที่รักษาตัวนานเกิน 14 วันแล้ว แต่ยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อหรือเป็นบวก นำมาเพาะเชื้อก็ปรากฏว่าเชื้อตายแล้ว ไม่มีการแบ่งตัว ซึ่งสอดคล้องกับรายงานวิชาการว่าเชื้อจะตายหลัง 8 วัน ดังนั้น การที่เรารักษา 14 วันเป็นระยะที่ปลอดภัยแล้ว และไม่กระทบกับจำนวนเตียง เพราะขณะนี้ผู้ป่วยรายใหม่มีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ป่วยที่รักษาหาย โดยอัตราการหายกลับบ้านของไทยน่าจะอยู่ที่ 60% สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เมื่อถามถึงกรณีมีผู้มาแจกเงินและไข่ไก่ ที่หน้าวัดดอนเมือง ทำให้มีคนไปรอรับแน่น นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ที่จะจัดงานแบบนี้ต้องมีการจำกัดจำนวนคนที่ชัดเจน ไม่ให้มาออรวมกันจำนวนมาก ต้องมีการจัดเรื่องของการเว้นระยะห่าง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นความเสี่ยงทำให้แพร่เชื่อได้ ซึ่งต้องฝากทุกสถานที่ต้องเน้นย้ำในเรื่องนี้
เมื่อถามถึงกรณีมีผู้มาแจกเงินและไข่ไก่ ที่หน้าวัดดอนเมือง ทำให้มีคนไปรอรับแน่น นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ที่จะจัดงานแบบนี้ต้องมีการจำกัดจำนวนคนที่ชัดเจน ไม่ให้มาออรวมกันจำนวนมาก ต้องมีการจัดเรื่องของการเว้นระยะห่าง ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นความเสี่ยงทำให้แพร่เชื่อได้ ซึ่งต้องฝากทุกสถานที่ต้องเน้นย้ำในเรื่องนี้