xs
xsm
sm
md
lg

สสส.-ศวปถ.วอนสวมหมวกกันน็อก ลดความเร็ว ป้องกันอุบัติเหตุ-โควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส.-ศวปถ. ชี้ แม้ไม่มีวันหยุดช่วงเทศกาลแล้ว แต่หวั่นตัวเลขอุบัติเหตุจักรยานยนต์ไม่ลด โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เหตุไม่สวมหมวกนิรภัย ถนนโล่งขับรถเร็ว วอนคนไทยรักชีวิตใส่หมวกกันน็อก เช่นเดียวกับ “ล้าง เลี่ยง ลด” ป้องกันโควิด-19

วันนี้ (6 เม.ย.) น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในช่วงโควิด-19 ว่า แม้รัฐบาลจะประกาศไม่หยุดเทศกาลสงกรานต์ 2563 ประกอบกับมีมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ทยอยออกมาในช่วงนี้ ทำให้มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานไทยและต่างด้าวทยอยเดินทางกลับ เพราะไม่มีรายได้และประสบความลำบากในการใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ โดยเมื่อวันที่ 20-21 มี.ค.ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข่าวว่าผู้โดยสารที่เดินทางกลับต่างจังหวัดผ่านสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ 3 แห่งของ บขส. ได้แก่ จตุจักร (หมอชิต 2), เอกมัย และสายใต้ มีปริมาณเพิ่มขึ้นราว 10,000 คน จากปกติอยู่ที่ 60,000-70,000 คนต่อวัน เป็น 70,000-80,000 คนต่อวัน เท่ากับว่า ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมากไปสู่ต่างจังหวัด เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโควิด-19 และยิ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในต่างจังหวัด สุดท้ายอาจส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล (ER) กรณีมีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุเป็นจำนวนมากๆ

“เราทราบดีว่า โควิด-19 เป็นภัยที่น่ากลัว แต่ต้องไม่ลืม “ภัยเงียบ” ที่มีอยู่ทุกวันบนถนน ภัยที่มาจากการไม่สวมหมวกกันน็อก ขับรถเร็วขึ้น เพราะถนนโล่ง รถน้อยลง ดังนั้น หากหลีกเลี่ยงการเดินทางไม่ได้ สสส. และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน ขอเน้นย้ำให้ “ผู้ขับขี่ควรใส่หมวกกันน็อกทุกครั้ง” ซึ่งหมวกกันน็อกแบบเต็มใบ จะช่วยปิดบังส่วนใบหน้าเราจากลม ฝุ่นละออง และละอองน้ำลาย ที่เรากลัวกันอยู่ตอนนี้ ช่วยป้องกัน COVID-19 ได้อีกทาง แต่ต้องใส่หน้ากากผ้าร่วมด้วย ส่วนผู้ใช้รถยนต์ควรคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง และควรทำจนเป็นนิสัย เช่นเดียวกับการสวมใส่หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ และเว้นระยะห่างทางสังคม (ห่...า...ง...กัน 1-2 เมตร) เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจถึงแก่ชีวิตทั้งจากทั้งโรคภัยและอุบัติเหตุบนท้องถนน” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว


นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า นอกจากการเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาที่เป็นปัจจัยให้เกิดการใช้รถมากขึ้นในต่างจังหวัดแล้ว สิ่งที่น่ากังวลถัดมาคือความเสี่ยงบนท้องถนนที่เกิดขึ้นกับบรรดารถจักรยานยนต์ส่งอาหารดีลิเวอรี่ หลายคนพยายามทำรอบการส่งให้ได้มากที่สุด เพราะส่งผลถึงรายได้ที่จะตามมา จึงต้องขับรถเร็ว ละสายตาบ่อยเพื่อมองโทรศัพท์ บางคนร่างกายอ่อนล้าเพราะพักผ่อนน้อย เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ส่งอาหารยังเสี่ยงติดโควิด-19 เพราะต้องไปรอรับสินค้าในสถานที่จำกัดที่มีคนจำนวนมาก จึงควรระมัดระวังตนเองมากขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งให้รถส่งอาหารเดลิเวอรี่กลุ่มนี้เข้าถึงแหล่งความรู้ อุปกรณ์ในการดูแลตัวเอง และตรวจเชื้อหาโควิด-19 ฟรี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่สาธารณะ

“ในช่วงนี้หลายจังหวัดมีมาตรการปิดสถานบันเทิง งดนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน รวมถึงมีมาตรการห้ามจำหน่ายสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในบางจังหวัด แต่ต้องยอมรับว่ามีคนอีกจำนวนมากสังสรรค์อยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวเอง เพราะแอลกอฮอล์ลดการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 และหากขับรถออกมาในที่ชุมชน ก็เป็นอันตรายต่อเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆ ข้อมูลจากกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดือนมีนาคม 2563 พบผู้ขับขี่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเกิดอุบัติเหตุถึง 19%  จึงขอความร่วมมือประชาชนคนไทย ไม่เพิ่มภาระให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและแพทย์พยาบาล งดเว้นการออกจากที่พัก และถือโอกาสนี้ใช้เวลาคุณภาพกับครอบครัวให้ได้มากที่สุด” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น