กรมควบคุมโรค เผย หากไม่ทำอะไรเลย จะมีผู้ป่วยโควิด-19 สูง 2.4-2.5 หมื่นราย แต่หากคนร่วมมือรักษาระยะห่างให้ได้ 80% จะมีผู้ป่วยราว 7 พันราย ขอคนออกจากบ้านให้น้อยลงกว่านี้ จะช่วยให้ยอดผู้ป่วยรายใหม่ลดลง ย้ำ คาดการณ์ตัวเลขผู้ป่วยมากๆ ให้คนกลัวไม่ใช่เรื่องที่ดี ชี้ คนวิตกกังวลจะเกิดการทำตัวไม่ถูกต้อง ทั้งตีตรา ไม่บอกความจริง ย้ำ ต้องให้ข้อมูลความจริง ให้เกิดปัญญาและสติ
วันนี้ (31 มี.ค.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตัวเลขการคาดการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 นั้น ไม่อยากให้มองเรื่องตัวเลขเป็นหลัก แต่การคาดการณ์นั้นเพราะนำมาประมาณการวางแผนเรื่องของอุปกรณ์ เครื่องมือ หน้ากาก ชุดป้องกันต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อม โดยต้องประเมินสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดด้วย ทั้งนี้ การคาดการณ์สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ สธ.ใช้เพื่อวางแผนเตรียมการอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งดำเนินการโดยนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคมี 3 แบบ คือ 1. ไม่ทำอะไรเลย จะมีผู้ป่วยประมาณ 24,000-25,000 ราย 2. สามารถเพิ่มมาตรการรักษาระยะห่างได้ 50% จะมีผู้ป่วยราว 17,000 ราย และ 3. สามารถเพิ่มมาตรการรักษาระยะห่างได้ 80% มีผู้ป่วยราว 7,000 ราย จะเห็นได้ว่า ห่างจากตัวเลขที่มีการพูดถึงผู้ป่วย 3.5 แสนราย และเสียชีวิต 7,000 ราย ค่อนข้างมาก และสูงกว่าความเป็นจริงทุกตัว ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการปิดเมือง เพียงแต่ปิดสถานที่เสี่ยงบางแห่ง คนยังใช้ชีวิตประจำวันได้ และทำงานได้ ในสถานที่ราชการและเอกชนก็ยังทำงาน รถติดทุกวัน จึงต้องการให้คนออกจากบ้านน้อยกว่านี้อีกมาก เพื่อทำให้ยอดผู้ป่วยรายใหม่ลดลง
“การคาดการณ์ตัวเลขมากให้คนตกใจ พยายามขู่ให้คนกลัวกับโรคภัย ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง เพราะเมื่อคนกลัว จนเกิดความวิตกกังวล คนจะปฏิบัติตัวโดยไม่มีเหตุผล เช่น เกิดการตีตราผู้ติดเชื้อ คนไข้ปกปิดข้อมูล ไม่เปิดเผยประวัติการป่วยหรือไปในสถานที่เสี่ยงติดโรค ซึ่งเริ่มมีปรากฏแล้ว การยิ่งเพิ่มความกลัว กังวลยิ่งเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อได้มากขึ้น วิธีที่ถูกต้องคือให้คนรู้ความจริง ให้เกิดปัญญาและสติ ให้เขาตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเอง ระยะนี้จึงอยากบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องขอความร่วมมือประชาชนจริงๆ เพื่อชะลอการระบาดให้ช้าที่สุดและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ทุกอย่างอยู่ที่คนไทยทุกคนจริงๆ” นพ.ธนรักษ์ กล่าว