xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ใช้เทคโนโลยีให้ ปชช.เข้าถึงแหล่งเรียนรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมศิลป์ เพิ่มศักยภาพบุคลากร ใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนศึกษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยไม่ต้องไปถึงสถานที่จริง

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวในพิธีจัดงานครบรอบ 109 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร ว่า กรมศิลปากรเป็นสถาบันหลักทางด้านวิชาการ ในการดูแล อนุรักษ์ มรดกของชาติ ทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านโบราณคดีพิพิธภัณฑ์ ด้านดนตรี นาฏศิลป์ ด้านเอกสารภาษาหนังสือ และ ด้านงานศิลปกรรรม อย่างไรก็ตาม ก้าวต่อไปของการดำเนินงาน จะมุ่งเน้นถึงปัจจัยหลักของการทำงาน คือ การพัฒนาบุคลากรที่เข้ามาทำงานในภาคส่วนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านงานวิชาการ เพิ่มองค์ความรู้ ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย เพื่อนำความรู้แบ่งปันสู่ประชาชน และสังคม ซึ่งเราจะต้องดำรงความเป็นสถาบันหลักด้านวิชาการให้ได้ ขณะที่ ภารกิจสำคัญในการสืบสานสืบต่อการทำงาน โดยต้องผลักดันให้ไปสู่ความสำเร็จนั้น จะเป็นงานก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต่างๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์เครื่องทอง ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา การปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี รวมทั้ง พิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน จ.นราธิวาส เป็นต้น

พร้อมกันนี้ จะต้องลงลึกไปกับการเริ่มต้นดำเนินการตามแผนงานในอนาคต โดยหลักๆ เป็นโครงการก่อสร้างที่ได้รับการอนุมัติแล้ว อาทิ พิพิธภัณฑ์ พระราชพิธี พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่จะสร้างขึ้นที่ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมีแผนการดำเนินงาน จัดสร้างโครงสร้างอาคาร 3 ปี ระหว่างปี 2563-2565 จากนั้น อีก 2 ปีถัดไป ก็มีการตกแต่งภายใน และจัดนิทรรศการ อีกจุดเน้นที่เราจะทำเป็นการให้ความรู้สู่ประชาชน โดยใช้เทคโนโลยี และระบบดิจิทัล เข้ามาใช้ในการพัฒนางานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ เกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ได้อย่างครบเครื่อง โดยไม่ต้องไปถึงสถานที่จริง ด้วยการจัดทำพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง อุทยานประวัติศาสตร์เสมือนจริง ได้ครบทุกแห่งตามแบบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยจะมีการเสริมรายละเอียดของส่วนต่างๆ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“ส่วนงานบริการ จะใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนการทำงาน ให้กระชับ ฉับไวขึ้น โดยมีการสร้างระบบการสืบค้นออนไลน์ ทั้งในส่วนงานเอกสารหนังสือต่างๆ การจัดทำระบบค้นหาเอกสารจดหมายเหตุแห่งชาติ การขออนุญาตนำเข้าส่งออกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุระหว่างประเทศ การซื้อตั๋วเข้าชมภายในโรงละครแห่งชาติ โดยเน้นประโยชน์สูงสุดของประชาชน” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น