xs
xsm
sm
md
lg

สศร.ชวนดีไซน์เนอร์อัพเกรดผ้าบาติกแดนใต้สู่เวทีสากล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่คิดมาก่อนเลยว่าผ้าบาติกชายแดนใต้จะก้าวขึ้นสู่เวทีระดับสากล และเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้น

รอวียะ หะยียามา เจ้าของร้าน บาติก เดอ นารา รายาบาติก จังหวัดปัดตานี บอกด้วยน้ำเสียงภูมิใจ ก่อนอื่นขอขอบคุณ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการพัฒนาออกแบบลายผ้าร่วมสมัยไทยชายแดนใต้สู่สากล โดยเชิญดีไซน์เนอร์แถวหน้าของเมืองไทย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้ความรู้กลุ่มผู้ประกอบการผ้าบาติก กลุ่มชาวบ้าน ให้ออกแบบลวดลายผ้าสไตล์ใหม่ๆ ปรับโทนสี ทำให้ผ้าบาติกออกมาสวยงามและทันสมัยยิ่งขึ้น


ตลอด 4 ปี ที่ข้าร่วมโครงการ กับ สศร.ได้เก็บเกี่ยวความรู้จากดีไซน์เนอร์ 4 คน แต่ละคนจะมีแนวทางของตัวเอง บางคนให้เราลองปรับโทนสีจากฉูดฉาดมาเป็นแนวหวาน พลิ้ว บางคนให้ลองทำลายผ้าเป็นแนวกราฟฟิก บางก็ให้ลองทำลายท้องทะเล ซึ่งล้วนแล้วต่างจากที่เราเคยทำ สำหรับปีนี้ คุณเอก ทองประเสริฐ นักออกแบบ แนะนำให้ออกแบบลายผ้าบาติกเป็นรูปทรงเรขาคณิต โทนสีขาว-ดำ ซึ่งลวดลายบนผืนผ้าบาติก ดูเก๋ มีเสน่ห์ ดูทันสมัยเหมาะกับเทรนยุคนี้


ข้อดีของการได้ทำงานร่วมกับดีไซน์เนอร์ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการจะทำงานอะไรซักอย่างหนึ่ง ออกแบบลายผ้า ดีไซน์เสื้อผ้า จะผ่านขบวนการคิดมาก่อนทั้งสิ้น ผ้าผืนนี้ สีสัน คอลเลคชั่นนี้ ดีไซน์เสื้อผ้าออกมาแบบนี้แล้วจะขายใคร สิ่งเหล่านี้ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการทำงาน พร้อมทั้งยังได้กลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับบนที่เขาติดตามดีไซน์เนอร์ ไม่ใช่กลุ่มลูกค้าทั่วไป


“ผ้าบาติกเป็นงานฝีมือ ยิ่งได้รับคำชี้แนะจากดีไซน์เนอร์หลายๆท่าน มีลวดลายผ้าแปลกใหม่ งานประณีต ยิ่งเห็นดีไซน์นำผ้าบาติกมาออกแบบเสื้อผ้าตามเทรนแฟชั่นแล้วโชว์บนเวทีต่างๆ รู้สึกดีใจ ภูมิใจมาก เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่าผ้าท้องถิ่นจากพื้นที่ห่างไกลจะก้าวขึ้นไปโชว์บนเวทีระดับสากล นอกจากนี้สิ่งที่กลุ่มทำผ้าบาติกได้รับอานิสงฆ์จากดีไซน์เนอร์ก็คือ แต่ละคนเขาจะมีกลุ่มลูกค้าติดตามผลงานอยู่แล้ว พอเขาเห็นและชอบลายผ้าบาติก เขาสั่งซื้อผ้าบาติก ไปตัดชุดใส่ไปทำงาน ใช้ในชีวิตประจำวัน” รอวียะ กล่าว


รอวียะ กล่าวด้วยว่า จากการทำงานร่วมกับ สศร.และดีไซน์ ทำให้ทางร้านมีฐานลูกค้าในไทยและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ลูกค้าบางรายเห็นลวดลายผ้าบาติกจากการออกบูธ บางเห็นผ่านออนไลน์ เห็นจากแฟชั่น ชื่นชอบว่าลวดลายทันสมัย มักจะสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนลูกค้าเก่า พอเห็นลายใหม่ เขามองว่าเก๋ อินเทรนด์ ก็สั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรายังทำลวดลายดั้งเดิมเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะซื้อเป็นของฝาก ของที่ระลึก ขณะที่ผ้าบาติกที่เราคิดค้นลวดลายใหม่ๆ นั้น ลายบนผืนผ้าส่วนหนึ่งมาจากการแนะนำของดีไซน์ อีกส่วนได้ทำการศึกษาเทรนด์แฟชั่นจากในประเทศและต่างประเทศ หวังว่าผ้าบาติกแดนใต้ร่วมสมัยเหล่านี้ จะเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าเลือกมากขึ้น หากจำหน่ายได้มาก รายได้ก็จะกระจายลงไปสู่กลุ่มชาวบ้านที่ทำผ้าบาติก ให้เขาเหล่านี้สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้


ด้าน ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) บอกว่า สศร. ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ดำเนินโครงการพัฒนาออกแบบลายผ้าร่วมสมัยไทยชายแดนใต้สู่สากล ปีงบประมาณ 2563 โดยปีนี้ได้เชิญนักออกแบบเครื่องแต่งกายชั้นนำของประเทศ ได้แก่ นายเอก ทองประเสริฐ และนายธีระ ฉันทสวัสดิ์ ให้ลงพื้นที่เวิร์คช็อปกับทางร้าน ชุมชนชายแดนใต้ เพื่อร่วมพัฒนาลวดลายผ้าบาติก โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาในการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตลอดจนแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้เป็นแกนหลักพัฒนาสร้างสรรค์ผ้าบาติก เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวบ้าน เพื่อต้องการเพิ่มศักยภาพการผลิต สร้างแรงบันดาลใจ และแนวคิดในการพัฒนาผืนผ้าบาติกชายแดนใต้มีความทันสมัย น่าสนใจเพิ่มขึ้น

..เชื่อว่ากลุ่มผ้าบาติกชายแดนใต้ จะพัฒนาลายผ้าแปลกใหม่ๆ มาให้ผู้สนใจได้เลือกสรรค์อย่างต่อเนื่อง








กำลังโหลดความคิดเห็น