xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) หน้ากากอนามัยผ้าขาวม้า “อิมปานิ” โอทอปตอบโจทย์ ต้องการหน้ากากโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงที่คนไทยเจอกับสถานการณ์ขาดแคลนหน้ากากอนามัย จากเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ก็จะมีผู้ผลิตกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโอทอป ที่ได้อาศัยจังหวะในช่วงที่หน้ากากอนามัยจากโรงงานผลิตขาดตลาด ทำการผลิตหน้ากาก ที่ทำจาก “ผ้าขาวม้า” ได้มาตรฐานการผลิตเช่นเดียวกับหน้ากากที่ผลิตจากโรงงาน




หน้ากากผ้าขาวม้า เริ่ม PM 2.5 แจ้งเกิดด้วยโควิด-19

สำหรับผู้ผลิตหน้ากากผ้าขาวม้า ในครั้งนี้ เป็นผลงานของกลุ่มวิสาหกิจทอผ้าขาวม้าบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี ภายใต้แบรนด์ IMPANI PA-KAO-MA อิมปานิ ผ้าขาวม้า ของ “นายเอกสิทธิ์ โกมลกิตติพงศ์” ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้เข้ามาปรับเปลี่ยน และชุบชีวิตผ้าขาวม้าไทย ให้สามารถโลดแล่นบนเวทีแฟชั่นสากลได้

นายเอกสิทธิ์ เล่าว่า ที่มาของหน้ากากผ้าขาวม้าอิมปานิ เกิดขึ้น เมื่อกลางปี 2562 ช่วงนั้นมีสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และมีคุณหมอท่านหนึ่ง ที่โรงพยาบาลศิริราช ออกมาบอกว่า การป้องกันฝุ่นPM 2.5 สามารถใช้หน้ากากผ้าได้ แต่ต้องมีความหนาของผ้าได้ถึง 4 ชั้น ในขณะนั้น หน้ากากกันฝุ่นเริ่มหายากและเป็นที่ต้องการของตลาด ก็เลยตัดสินใจทำหน้ากาก โดยใช้ผ้าขาวม้า ของอิมปานิ


หน้ากากผ้าฝีมือชาวบ้าน สร้างมาตรฐานเดียวโรงงานผลิต


โดยผ้าขาวม้าที่ใช้ในการทำหน้ากากอนามัยในครั้งนี้ ทาง “คุณเอกสิทธิ์” บอกว่า ต้องนำผ้าผ่านกระบวนการทำความสะอาด ซักเอาสารเคมีที่เกิดจากกระบวนการผลิตออกให้หมด แม้ว่าจะเป็นการผลิตหน้ากากผ้าในชุมชน ไม่ใช่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยโดยตรง แต่ทุกขั้นตอนต้องทำให้ได้มาตรฐานเดียวกับโรงงานมาตรฐานที่ผลิตหน้ากากอนามัย ในส่วนของผ้าขาวม้าที่นำมาตัดเย็บหน้ากากในครั้งนี้ จะใช้ผ้ามาวางซ้อนกัน 4 ชั้น และเย็บติดกันเป็นหน้ากากอนามัยที่สามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้

สำหรับรูปแบบของหน้ากากผ้าขาวม้า ในครั้งแรกทาง “อิมปานิ” ได้ออกแบบมาเป็นสี่เหลี่ยมเหมือนกับหน้ากากอนามัยที่ขายทั่วไปในท้องตลาด แต่ปัญหาของหน้ากากสี่เหลี่ยม คือ ปิดไม่สนิทไม่มิดชิด ลูกค้าอยากได้หน้ากากที่ปิดสนิทกว่านี้ ซึ่งได้เห็นตัวอย่างหน้ากาก ที่กลุ่มไบเกอร์สวมใส่ ที่รูปทรงของหน้ากากจะเข้ากับรูปใบหน้า ทำให้ได้หน้ากากที่ปิดมิดชิดมากกว่าหน้ากากสี่เหลี่ยม จึงได้ออกแบบหน้ากากใหม่ เป็นลักษณะเดียวกับ หน้ากากที่กลุ่มไบเกอร์สวมใส่ออกมาจำหน่าย ลูกค้าค่อนข้างพอใจกับหน้ากากแบบใหม่


ในส่วนของผ้าขาวม้าทาง “อิมปานิ” เลื่อกใช้ เป็นผ้าขาวม้าที่โรงงานผลิต ซึ่งเป็นผ้าขาวม้าที่ผลิตจากเส้นใยฝ้าย 80% ทอและย้อมด้วยเครื่องจักร ส่วนลวดลายผ้าที่นำมาทำหน้ากากอนามัย เลือกลวดลายที่ทางโรงงานออกแบบและได้รับความนิยม หลังจากใช้ในการตัดเย็บผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่พอเลือกเอามาทำหน้ากาก ใช้เทคนิคการวางผ้าให้เมื่อตัดเย็บออกมาเป็นหน้ากากต้องดูดี และยังคงมีเสน่ห์ของความเป็นลวดลายผ้าขาวม้าอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีลวดลายหน้ากากให้ลูกค้าได้เลือกมากกว่า 30 ลาย


ออเดอร์พุ่ง รับโควิด-19 กำลังผลิตสัปดาห์ละ 1พันชิ้น ไม่พอขาย


สำหรับช่องทางการจัดจำหน่าย ขายผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านหน้าเวบไซต์ และหน้าเพจ และบางส่วนนำไปวางจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ซึ่งปัจจุบันหน้ากากที่ผลิตได้แค่สัปดาห์ละ 1,000 ชิ้น เท่านั้น ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ทำให้ขายได้แค่ผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนในห้างเดอะมอลล์ วางขายแค่ 50-60 ชิ้นต่อสัปดาห์ต่อสาขาเท่านั้น และไม่พอขายเช่นกัน

“สาเหตุที่เรายังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพราะขั้นตอนการทำหน้ากากอนามัยต้องได้มาตรฐาน เร่งทำไม่ได้ ลูกค้าเข้าใจว่าผ้าที่นำมาใช้ต้องผ่านการซักทำความสะอาดหลายขั้นตอน และการทำงานของ “อิมปานิ” ที่ผ่านมาลูกค้าประจำรู้ว่า การทำงานของเราไม่ว่าจะเป็นงานชิ้นเล็ก หรือชิ้นใหญ่ ทุกอย่างต้องผ่านคิวซี เราจะไม่ปล่อยให้งานที่ไม่ได้มาตรฐานหลุดไป เพราะสินค้าของเราราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากเราเจาะกลุ่มลูกค้าตลาดไฮเอนท์ คาดหวังสินค้าคุณภาพ”


หน้ากากเป็นงานชิ้นเล็กทำง่าย ทำให้ลอกเลียนแบบง่าย
และเกิดปัญหาตัดราคา ส่งผลต่อคุณภา

นายเอกสิทธิ์ เล่าว่า ในส่วนของราคาตั้งราคาขายที่ชิ้นละ 60 บาท ถ้าเมื่อเทียบกับหน้ากากผ้าทั่วไป หน้ากากอนามัยแบบผ้าของเราราคาแพงกว่า ซึ่งเป็นราคาที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกที่เจาะกลุ่มเป้าหมายป้องกันฝุ่น PM 2.5 และหลังจากมีเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภคซื้อหน้ากากของเราไปใช้ป้องกันไวรัสโควิด-19 แม้ว่าความต้องการมีจำนวนมาก แต่เราก็ไม่ได้ขึ้นราคาก็ยังคงราคาเดิม ส่วนการแข่งขัน หลังจากที่เปิดตัวหน้ากากผ้าขาวม้าอิมปานิ ช่วงแรกก็ยังไม่มีคู่แข่ง แต่พอเริ่มมีเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 มีผู้ผลิตหน้ากากผ้า จากชุมชนต่างๆ ออกมาขึ้น

“แต่มีบางรายที่ทำแบบใกล้เคียงกับ “อิมปานิ” ทั้งลายผ้า และรูปแบบ ซึ่งเราก็ยินดี เพราะอยากเห็นชาวบ้าน หรือชุมชน ผู้ผลิตผ้าขาวม้า มีรายได้ มีช่องทางในการจำหน่ายสินค้ามากขึ้น และช่วยสร้างกระแสผ้าขาวม้า ให้อยู่ในตลาดผ้าไทยตลอดไป อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ผลิตรายอื่นๆ ขายในราคาที่ถูกกว่า เช่น หน้ากากลายผ้าขาวม้า ที่ทำออกมาจำหน่าย ราคาของผู้ผลิตรายอื่นๆ จะถูกกว่าเรา อยู่ที่ชิ้น 35-40 บาท เพราะใช้ผ้าแค่ 2 ชั้น ซึ่งผ้า 2 ชั้น กันฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ ซึ่งทางผู้ผลิตจะต้องแจ้งให้ลูกค้าได้ทราบด้วย”



















สำหรับประวัติของ ผ้าขาวม้าอิมปานิ เกิดขึ้นมาจากทายาทรุ่นที่ 3 เดิมชื่อว่า ผ้าขาวม้า บ้านไร่ จังหวัดราชบุรี และพอ “คุณเอกสิทธิ์” เข้ามารับช่วงดูแลกิจการต่อ ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น อิมปานิ ผ้าขาวม้า IMPANI PA-KAO-MA เพราะชื่อผ้าขาวม้าบ้านไร่ มีผู้ใช้ชื่อนี้ ในหลายพื้นที่หลายจังหวัด การเข้ามาดูกิจการของ “คุณเอกสิทธิ์” ได้ลบภาพผ้าขาวม้า สินค้าที่ดูโบราณ ไม่ทันสมัยออกไปจนหมด หลังจากได้ร่วมกับดีไซน์เนอร์ ช่วยกันออกแบบสีสัน และลวดลายผ้าขาวม้าใหม่ และยังมีดีไซน์เนอร์ชื่อดังนำผ้าขาวม้าของอิมปานิ ไปตัดเย็บเสื้อผ้าในรูปแบบที่ร่วมสมัย ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

โดยวันนี้ ผ้าขาวม้าอิมปานิ ไม่ได้โดนใจแค่ผู้บริโภคคนไทย โด่งดัง ได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่น มีลูกค้าญี่ปุ่น สั่งซื้อผ้าขาวม้าอิมปานิไปจำหน่าย และยังเป็นแบรนด์ผ้าขาวม้าที่วางขายบนห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ หลายสาขา พร้อมกันนี้ ในอนาคตเตรียมโกอินเตอร์ไปอีกหลายประเทศ โดยเป็นการทำงานร่วมกับดีไซน์เนอร์ชั้นนำของประเทศ

สนใจโทร.08-9666-9550




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager






กำลังโหลดความคิดเห็น