กทม.- ปริมณฑล ปิดหลายสถานที่ ทำคนว่างงาน แห่ทยอยกลับภูมิลำเนา คกก.โรคติดต่อฯ ร่อนหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด สกรีนเข้มคนกลับจาก กทม.และ ปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. ให้จัดทำฐานข้อมูล กักตัวเองที่บ้าน 14 วัน ไม่สุงสิงคนในครอบครัว หวั่นแพร่เชื้อให้คนต่างจังหวัด พร้อมแจ้งขนส่ง รถไฟ สนามบิน คัดกรองห้ามคนมีไข้ อาการทางเดินหายใจเดินทาง ทำความสะอาดยานพาหนะก่อนหลังเดินทาง จัดที่นั่งเว้นระยะห่าง ลดโอกาสแพร่เชื้อ
วันนี้ (22 มี.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ ผู้ว่าราชการจังหวัดในส่วนของปริมณฑล มีประกาศปิดสถานบริการต่างๆ เพื่อให้คนออกจากบ้านน้อยลง ลดการเคลื่อนที่ของประชาชน และลดโอกาสการแพร่เชื้อในช่วง 3 สัปดาห์ ว่า จากการปิดสถานบริการต่างๆ มีแนวโน้มว่าจะทำให้ประชาชนของ กทม. ที่มีแรงงาน คนทำงาน มีการเคลื่อนย้ายออกไปส่วนภูมิภาค ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายตัวโรคไปด้วย คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงทำหนังสือถึงผูว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ลงวันที่ 21 มี.ค. 2563 ให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรค ระดับอำเภอและหมู่บ้าน กรณีผู้เดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล โดยขอให้ดำเนินงาน ดังนี้ 1. จัดตั้งทีมอาสาโควิด-19 ระดับอำเภอและหมู่บ้าน เพื่อดำเนินการค้นหาและเฝ้าระวัง 2. จัดทำฐานข้อมูลของผู้เดินทางกลับจาก กทม. และปริมณฑล ที่มาถึงภูมิลำเนาตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป
3. ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้เดินทางกลับจาก กทม.และ ปริมณฑล เพื่อแยกตัวสังเกตอาการไข้และอาการทางเดินหายใจทุกวัน หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้อื่นในที่พำนักอาศัยจนครบ 14 วัน นับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลำเนา 4. แจ้งผู้เดินทางกลังจาก กทม. และ ปริมณฑล ปฏิบัติตามคำแนะนำเคร่งครัด คือ ไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ ช้อนส้อม ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่นาน 20 วินาที หรือ แอลกอฮอล์ 70% ลูบมือจนแห้ง หลีกเลี่ยงการพูดคุยใกล้ชิดผู้อื่น โดยเฉพาะสูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง และหากมีไข้ อาการทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากอนามัย และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังทำหนังสือถึงอธิบดีกรมขนส่งทางบก ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสนามบินดอนเมือง และผู้อำนวยการสนามบินสุวรรณภูมิ โดยขอให้มีการทำความสะอาดยานพาหนะ ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ สถานีรถไฟ เครื่องบินทุกลำก่อนและหลังเดินทาง เก็บบันทึกข้อมูลชื่อ นามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้โดยสารเพื่อติดตามสอบถามโดยบันทึกลงในแอปพลิเคชันของหน่วยงานหรือแอปพลิเคชันอื่นๆ ตามความเหมาะสม คัดกรองผู้โดยสารก่อนออกเดินทางจาก กทม.และปริมณฑล หากพบมีไข้ อาการทางเดินหายใจ ขอให้งดเดินทาง และแนะนำให้กลับไปพัก เพื่อเฝ้าระวังสังเกตอาการในที่พำนัก หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปรับการรกษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ให้คำแนะนำผู้โดยสารในการป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น ล้างมือ จัดหาหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ให้สวมใส่ตามความเหมาะสม ลดแออัดของผู้โดยสาร โดยจัดที่นั่งเว้นระยะห่าง เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ เมื่อถึงสถานีหรือสนามบินปลายทาง แล้วพบว่ามีไข้ อาการทางเดินหายใจ ให้รายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในต่างจังหวัด ขณะนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว โดย วันที่ 19 มี.ค. ผู้ป่วย กทม.มี 213 ราย ต่างจังหวัด 59 ราย วันที่ 20 มี.ค. ผู้ป่วย กทม.มี 247 ราย ต่างจังหวัด 75 ราย วันที่ 21 มี.ค. ผู้ป่วย กทม.มี 284 ราย ต่างจังหวัด 127 ราย วันที่ 22 มี.ค. ผู้ป่วย กทม.มี 363 ราย ต่างจังหวัด 236 ราย จึงนำมาสู่การขอความร่วมมือว่า ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่ถูกสั่งปิด อย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะอาจนำเชื้อไปแพร่ให้คนต่างจังหวัด ซึ่งเป็นเเด็ก ผู้สูงอายุ คนใกล้ชิดในครอบครัว
เมื่อถามถึงการดูแลเรื่องปากท้อง เพราะหยุดงานแล้วขาดรายได้ มีการประสานหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เรื่องสุขภาพและเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ ต้องไปด้วยกัน หากดูแลกันได้ อยากให้นายจ้างให้การดูแลไปก่อน แม้กิจการอาจหยุดชั่วคราว แต่ขอให้ดำเนินการต่อในการดูแลลูกน้องลูกจ้าง เพราะตอนนี้เป็นชวงหัวเลี้ยวต่อ หากแข็งแรง ไม่ป่วยมาก ทุกคนหยุดลดการแพร่เชื้อ ธุรกิจก็กลับมาดำเนินการได้ในเวลาไม่นานมาก หากปล่อยให้ยาวไปหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนอาจเสียหายมากกว่านี้ คนฐานะดีกว่า บริษัทห้างร้านนายจ้างจึงควรดูแล ซึ่งรัฐบาลก็พยายามมีแผนงานดูแลด้วย นอกจากนี้ อยากสื่อสารกับญาติพี่น้องผู้สูงอายุ พ่อแม่ในต่างจังหวัด แม้เป็นช่วงที่ไม่ทำงาน แต่การไม่กลับไปหา ก็ถือเป็นการดูแลคนในบ้านอีกแบบ เพราะถ้ารักพ่อแม่ปู่ย่าตายายก็อย่าเพิ่งกลับบ้านให้เกิดการป่วยในต่างจังหวัด หากเกิดขึ้นค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลกันต่อ อาจมากกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตใน กทม.