xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเหตุผล ทำไมต้องอยู่บ้าน เพื่อหยุด COVID-19 หากไม่ทำเชื้อจะกระจายทั่ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ขณะนี้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ได้ออกระกาศปิดสถานที่บริการต่างๆ เพื่อให้คนลดการออกจากบ้านไปรวมตัวกัน เป้นเวลา 3 สัปดาห์ ขณะที่สถานประกอบการหลายแห่งก็ให้พนักงานทำงานที่บ้าน ซึ่งการลดการออกจากบ้านไปเจอผู้คนจำนวนมาก และการมีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ควรห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร จะเป็นตัวช่วยให้ลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค COVID-19 ลงได้

แต่ที่น่ากังวลคือ คนที่ไม่มีงานทำกำลังเดินทางออกกลับภูมิลำเนา ซึ่งขณะนี้ได้มีการแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ให้จัดทำฐานข้อมูลคนกลับมาจาก กทม.และปริมณฑล และให้กักตัวเองที่บ้าน 14 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.เป็นต้นไป และให้ขนส่งทุกประเภท ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ และเครื่องบิน ทำการคัดกรอง จัดทำฐานข้อมูลคนเดินทาง เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยเดินทาง และเว้นระยะห่างของการจัดที่นั่ง เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อ

นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่ประชาชนควรปฏิบัติ คือ เรื่องมาตรการระยะห่างในสังคม  แต่ละคนอยู่ห่าง 1-2 เมตร ป้องกันแพร่เชื้อ หรือเรียกว่า อยู่ห่างไว้ ไม่แพร่เชื้อ เพื่อทุกคน แต่มาตรการนี้จะไม่ได้ผล ถ้าไม่ใช้ร่วมกับการจำกัดการเดินทาง คือ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เพราะสถานการณ์ใน กทม.ขณะนี้ไม่แตกต่างจากญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่แล้วที่ห้ามไป จากสถานการณ์การระบาดใน กทม.ต้องจำกัดการเดินทาง ผู้ที่อยู่ใน กทม.ไม่ควรออกไปต่างจังหวัด และคนจากต่างจังหวัดก็ไม่ควรเข้ามา ส่วนข้อเสนอว่า ทำไมเราต้องอยู่บ้าน เพราะสถานการณ์ตอนนี้มีความเสี่ยงอยู่รอบตัวเรา เกิดการระบาดโดยไม่รู้ว่าใครติดหรือไม่ติดเชื้อบ้าง ก็เทียบเหมือนกับเหตุการณ์ร้ายรอบตัวเรา มีการยิงกันได้ยินเสียงปืนจะออกจากบ้านหรือไม่ ก็คงไม่อยากออก โควิด-19 ก็เช่นกัน ไวรัสกำลังอยู่ในคนที่อาจอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ คนมีความเสี่ยงสูง เช่น สูงอายุ จึงควรอยู่บ้าน เพราะถ้าติดเชื้อแล้วมีโอกาสป่วยหนักได้

"เหตุผลทำไมต้องอยู่ใน กทม. ไม่ออกไปต่างจังหวัด เพราะถ้าเราไม่ป่วย แต่ระหว่างเดินทางออกไป เราไม่รู้ว่าข้างๆ เราอาจมีเชื้ออาจเป็นคนป่วย นั่งไปด้วยเวลานานๆ โอกาสติดเชื้อมีสูง หรือถ้าเรามีเชื้อก็อาจแพร่ให้ผู้อื่นได้ รวมถึงกำลังเป็นการเอาเชื้อโคโรนา 2019 ไปแพร่สู่คนที่เรารัก อาจเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ผู้สูงอายุ และการอยู่ กทม.จะดีที่สุด เพราะถ้าหากเราป่วยหนัก รพ.ต่างจังหวัดตอนนี้ไม่สามารถรองรับกรณีนี้ได้ โดยเฉพาะระดับตำบล อำเภอ เพราะอาการหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ อยู่ไอ.ซี.ยู. ซึ่ง รพ.ที่พร้อมที่สุด คือ กทม. การ อยู่กทม.ยังสามารถรักษาได้ โอกาสหาย ไม่เสียชีวิตสูงกว่า ในส่วนของการออกต่างจังหวัดต้องบอกว่า ไม่ควรทำอยู่ใน กทม.ดีที่สุดแล้ว" นพ.ชิโนรส กล่าว

นพ.ชิโนรส กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การอยู่บ้านอาจมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา เช่น เครียด เบื่อ เหงา มีคำแนะนำว่า อาจต้องหากิจกรรมต่างๆ มาทำ เช่น การออกกำลังกายในบ้าน ทำให้หายเครียด ช่วยลดอาการเศร้าได้ และขอให้มีในเรื่องขวัญกำลังใจที่ดี ยึดหลักสมัยน้ำท่วม อึด หึด สู้ เดี๋ยวก็ผ่านไป อยูในบ้าน 10 กว่าวันผู้ป่วยแสดงอาการหมดแล้ว ผู้ป่วยลดลง ก็กลับมาสู่สถานการณ์ปกติได้ ถ้าเครียด มีปัญหาสุขภาพจิต ก็โทร. 1323 หรือตรวสอบความเครียดได้ผ่านแอปพลิเคชัน และควรเปลี่ยนความคิดว่า อยู่บ้านเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ เป็นว่าอยู่บ้านก็ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ ทำให้การต่อสู้โควิดสำเร็จได้ เพราะเราเก็บตัวในบ้าน


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า เดิมผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดอยู่ใน กทม. แต่ขณะนี้ผู้ป่วยในต่างจังหวัดกำลังเพิ่ม ถ้าเราไม่ทำไรจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นในต่างจังหวัด การที่รัฐบาลหรือ กทม.ให้หยุดงาน 3 สัปดาห์ วัตถุประสงค์หลัก คือ ให้อยู่บ้าน เพื่อจะได้ไม่ไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น และใครที่อยู่ระหว่างการป่วยเล็กๆ น้อยๆ 2 สัปดาห์ก็จะหาย เป็นช่วงเวาสำคัญที่จะทำให้ กทม.ปลอดเชื้อ ไม่เพิ่มเชื้อ แต่ถ้าใครทำไม่ตรงวัตถุประสงค์ เช่น เดินทาง เพราะไปอยู่กับคนจำนวนมาก ก็จะเป็นการเพิ่มเชื้อ เพราะเราอาจจะอาการน้อยหรืออยู่ระหว่างการฟักตัว พอไปถึงต่างจังหวัดก็มีโอกาสไปแพร่เชื้อให้คนต่างจังหวัดหรือที่บ้าน และความเสี่ยงจะเพิ่มมากกว่าใน กทม.ในช่วงที่ผ่านมา ถ้ารักพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่อย่าเพิ่งเดินทางกลับ ให้กักตัวครบ 14 วันก่อน ให้แน่ใจว่าเชื้อใน กทม.น้อยลง

"ขณะนี้ข้อมูลช่วงแรกๆ คนไปสนามมวย เที่ยวผับบาร์ตอนกลางคืน มีโอกาสได้รับเชื้อมา บางคนอาจป่วยไปแล้วจากตัวเลขที่แถลงไปแล้ว แต่บางคนอยู่ระหว่างเริ่มมีอาการหรืออยู่ระหว่างระยะฟักตัว การที่รัฐบาลให้เราหยุด 2 อาทิตย์ สำหรับคนวัยทำงาน ร่างกายแข็งแรงเป็นส่วนใหญ่ และเชื้อไม่ได้มีอาการรุนแรงในวัยทำงาน ก็หวังว่าพวกเราจะช่วยกันหยุดเพื่อให้ร่างกายกำจัดเชื้อให้หมดก่อน และไม่แพร่เชื้อ ถ้าเราเข้าใจวัตถุประสงค์จะรู้ว่าไม่ใช่ช่วงวันหยุดพิเศษที่เดินทางกลับต่างจังหวัด เพราะระหว่างเดินทางมีโอกาสรับเชื้อคนอื่น หรือแพร่เชื้อให้คนอื่น ถ้าทุกคนช่วยกัน ปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ม่ให้เชือ้ไปต่างจังหวัด" นพ.โสภณ กล่าว

นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การที่จะไม่ทำให้โรคกระจายมากขึ้น หรือเป้าหมายที่จะไปสู่ฉากทัศน์ที่ 3 คือ โรคเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อให้เรามีแพทย์ มีเตียง มียาที่เพียงพอ ซึ่งถ้ายืดระยะเวลาได้ดี ยาก็จะเตรียมได้ทัน หรือวัคซีนก็จะตามมาทัน ซึ่ง 2ปัจจัยที่ควรทำ คือ 1.สุขอนามัยส่วนบุคคล คือ การลดสัมผัส ล้างมือบ่อยๆ เข้าที่ชุมชนสวมหน้ากากผ้า และ 2.การมีระยะห่างทางสังคม ทำง่ายๆ ได้แก่ 1. ทักทายเว้นระยะ 1-2 เมตร 2.เลี่ยงกอดจูบสัมผัสครอบครัว ลูก สามีภรรยา  3) ลดออกจากบ้าน  4) ไม่สังสรรค์ ไม่จัดงานเลี้ยง  5) ประชุม น้อยกว่า 50 คน และมีการคัดกรองป้องกัน สำหรับสถานประกอบการที่ยังสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ เช่น ซูเปอร์มารเก็ต ร้านอาหารที่ขายแบบกลับบ้าน เป็นต้น สามารถสมัครเข้ามายังกรมอนามัย เพื่อขอแนวทางนำมาตรฐานการป้องกันโรคโควิด-19 ไปดำเนินการได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่มารับบริการ




กำลังโหลดความคิดเห็น