กสศ.เตรียมพร้อมรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ หรือ ITA ตลอดเกือบ 3 ปี บริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล ด้าน ป.ป.ช.ช่วยติวเข้มสอนระเบียบ หลักเกณฑ์ อุดช่องโหว่ปัญหาต่อต้านทุจริตเชิงรุกตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา กสศ.ได้จัดบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “คุณธรรม ความโปร่งใส และการควบคุมภายใน เพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน” โดยคุณชนิดา อาคมวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการ สำนักงานประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อเตรียมความพร้อมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งในภาพรวมของประเทศและในแต่ละหน่วยงานภาครัฐ(Integrity and Transparency Assessment: ITA) สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายสุภกร กล่าวว่า กสศ.มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร อยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี ที่ใส่ใจต่อการบริหารงานกองทุนด้วยความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่ง กสศ.ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ก่อตั้งขึ้นมาจะครบ 3 ปี ในวันที่ 14 พ.ค. 2563 นี้ การเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) จึงต้องมีการเรียนรู้เครื่องมือ หลักเกณฑ์ วิธีการในการประเมินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กสศ.ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องการบริหารงานด้วยความโปร่งใส และการกำกับดูแลดำเนินงานให้มีคุณธรรมมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งกสศ.ขึ้นมา เรามีบุคลากรเพียง 60 กว่าคน แต่ต้องทำงานผ่านเครือข่ายบุคลากรภายนอกนับแสนคน จึงต้องพยายามรณรงค์และจัดระบบป้องกันอย่างรัดกุม ส่วนการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประเมิน ITA ครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาอย่างเชื่อมโยงและต่อเนื่องที่เป็นไปตามหลักคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ” นายสุภกร กล่าว
นายสุภกร กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตไม่เพียงสร้างผลกระทบแต่ในประเทศเท่านั้น ยังกระจายความรุนแรงไปทั่วโลก จากที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาการทุจริตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อีกทั้งการต่อต้านทุจริตยังเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ ITA ถือเป็นมาตรการ การป้องกันทุจริตเชิงรุกที่สำคัญ เมื่อหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศมีการป้องกันการทุจริตในลักษณะดังกล่าว ก็จะทำให้การทุจริตในภาพรวมของประเทศลดลงและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการร่วมประเมิน ITA จะช่วยลดความเสี่ยง หรือเป็นช่องโหว่ที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต การรับสินบน ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งจะช่วยให้สามารถยับยั้งการทุจริตหรือผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเท่าทัน ทั้งหมดจะนำไปสู่เป้าหมายของ กสศ.ที่กำหนดตามความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาล