เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ จี้รมว.ศธ.สั่งสถานศึกษาหยุดปิดกั้นจัดกิจกรรมแฟลชม๊อบ วอนเปิดพื้นที่ปลอดภัยแสดงออกทางความคิด อย่างเสรีและสร้างสรรค์ เผยกิจกรรมแฟลชม็อบหลายพื้นที่ถูกแทรกแซง จนต้องยกเลิก แนะอย่าผลักเด็กลงถนน พร้อมเสนอ ศธ.ปลูกฝังประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เคารพความเห็นต่าง
วันนี้ (10 มี.ค.) เวลา 13.00 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)นายสุรนาถ แป้นประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง (Active youth) พร้อมด้วย นายธนเดช ใจสบาย ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิและกลุ่มเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา จากหลายสถาบันกว่า 40 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านทางนายกวินเกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อขอให้เปิดพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษา ให้นักเรียน นักศึกษา ได้แสดงออกทางความคิดอย่างเสรี สร้างสรรค์ ตามสิทธิกฎหมายที่พึงจะกระทำได้ ทั้งนี้กลุ่มเยาวชนได้แสดงละครสั้นชุด “ปกป้องสิทธิและเสรีภาพเด็กและเยาวชน” พร้อมอ่านข้อเสนอ 5 ข้อ ถึงกระทรวงศึกษาธิการ และทุกฝ่ายในสังคม
นายธนเดช ใจสบาย ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ กล่าวว่า เครือข่ายฯได้ติดตามสถานการณ์ นักเรียน นิสิต นักศึกษาออกมาจัดกิจกรรม“FLASH MOB” ในสถาบันการศึกษาแสดงออกทางความคิดประเด็นเรื่องการเมือง การแสดงออกปรากฏขึ้นในกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพแสดงออกได้และตามพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2558มาตรา3 (4)ภายในสถานศึกษาได้รับการยกเว้นสามารถจัดกิจกรรมได้ตามที่บัญญัติไว้ว่า มาตรา3พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้(4) การชุมนุมภายในสถานศึกษา ประกอบกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2532ที่มีหลักการสำคัญคือเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก4 ด้าน ได้แก่ การห้ามเลือกปฏิบัติต่อเด็กการกระทำหรือการดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก สิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคมและ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของเด็ก และการให้ความสำคัญกับความคิดเหล่านั้น
“จากข้อเท็จจริงพบว่า มีผู้บริหารสถานศึกษาบางแห่ง ปิดกั้นไม่ให้จัดกิจกรรมในสถานศึกษา ทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาต้องใช้พื้นที่นอกรั้วสถานศึกษา เพื่อเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็น และเป็นพื้นที่เพื่อแสดงออกทางการเมือง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตร่างกายในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ซ้ำร้ายยังเป็นการพลักใสไล่ส่งให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหาร ครู อาจารย์ บางคนข่มขู่นักเรียนที่ออกไปจัดกิจกรรมในพื้นที่อื่น ทำให้โรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียงและจะไม่ยอมให้ใบวุฒิการศึกษา”นายธนเดช กล่าว
นายธนเดช กล่าวด้วยว่า สถานศึกษานอกจากจะให้พื้นที่ในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และแสดงออกนอกจากความรู้ในตำราเรียนแล้ว สถานศึกษาและผู้บริหารต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าการแสดงออกในประเด็นเรื่องการเมืองก็มีความสำคัญ หากในอนาคตมีความไม่เป็นธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองในระดับอื่นๆ อาทิ การเมืองท้องถิ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา มีความชอบธรรมที่สามารถ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และแสดงออกได้อย่างมีอิสระเสรี ปราศจากการครอบงำ เพราะทุกอย่างในสังคมมีความเชื่อมโยงกันทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง จะบอกให้เด็กสนใจแต่เรื่องการเรียนเพียงอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เพราะท้ายที่สุดเด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเติบโตเป็นขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบบ้านเมืองต่อไป
ด้านนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง (Active youth) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเครือข่ายฯ ในฐานะกลุ่มคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน จึงขอแสดงจุดยืนและเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้ 1. สั่งการให้สถานศึกษาทุกระดับในสังกัดเปิดพื้นที่ปลอดภัยในสถานศึกษา ให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้แสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรี และสร้างสรรค์ ไม่ปิดกั้นแทรกแซง2.มีหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตยในสถานศึกษาอย่างจริงจัง ที่มากกว่าการเลือกหัวหน้าห้อง หรือประธานนักเรียน แต่ควรไปถึงการรู้สิทธิ หน้าที่ เคารพในความคิดต่าง การแสดงออกทางความคิดอย่างสันติ และการเคารพในสิทธิของผู้อื่น 3.ขอเรียกร้องให้รุ่นพี่ ศิษย์เก่า ผู้ปกครอง ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันปกป้องการแสดงออกของนักเรียนนิสิตนักศึกษา ร่วมทำให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย และให้การสนับสนุนตามความเหมาะสมอาทิ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ กระดาษ ปากกา ป้ายผ้า ฯลฯ 4.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคม รวมถึงสื่อมวลชนทุกแขนง หลีกเลี่ยงการใช้คำพูด หรือวาทกรรมที่จะนำไปสู่ความเกลียดชัง (hate speech) สร้างความแตกแยกในสังคม เราควรเรียนรู้และเคารพในความคิดต่างที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์ และ5.ขอฝากถึงนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสื่อสารที่อาจนำไปสู่การสร้างเงื่อนไข ที่จะทำให้ผู้ไม่หวังดี หรือมือที่สามจะหยิบยกเข้ามาทำลายความชอบธรรม และบิดเบือนเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการแสดงออก
“และในวันพรุ่งนี้เราจะนำข้อเสนอเดียวกันนี้ไปยื่นกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อท่านรัฐมนตรีในฐานะกรรมกำดูแลมหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้พิจารณาด้วยเช่นกัน” นายธนเดช กล่าว