xs
xsm
sm
md
lg

ยัน “หน้ากากผ้า” เหมาะกับคนทั่วไป ชู “ผ้าฝ้าย-ใยสังเคราะห์-ผ้าอ้อมเด็ก” ป้องกันละอองฝอยได้ 54-59%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย ยัน หน้ากากผ้า เหมาะกับคนทั่วไปเมื่อเข้าสถานที่แออัด แนะใช้ ผ้าฝ้าย-ใยสังเคราะห์-ผ้าอ้อมเด็ก เย็บทำหน้ากาก ป้องกันอนุภาค 1 ไมครอน 54-59% ขณะที่ละอองฝอยมีขนาด 5 ไมครอน ชวนร่วมกันทำหน้ากากผ้าให้ได้คนละ 3 ชิ้น รวม 201 ล้านชิ้น เพื่อคนไทยทุกคนมีใช้ ลดความขาดแคลนหน้ากากอนามัย ดึงราคาให้ถูกลง สธ.ชี้มีสต๊อกหน้ากากอนามัยบุคลาก รพ.8 ล้านชิ้น ให้พื้นที่บริหารจัดการเกลี่ยให้เหมาะสม เผยได้เพิ่มจาก อภ.ต่อวันต่ำสุด 5 หมื่น สูงสุด 5 แสนชิ้น

วันนี้ (4 มี.ค.) นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีความสับสนถึงหน้ากากผ้าที่ไม่เหมาะกับการใช้ป้องกันโรคว่า คนทั่วไปสุขภาพปกติไม่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยในพื้นที่ปกติ สิ่งที่ควรทำคือลดการสัมผัสต่างๆ แต่ความเป็นจริงทำได้ยากที่จะไม่หยิบจับอะไร ดังนั้น ต้อล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และสิ่งที่จะช่วยได้มาก คือ การสวมหน้ากากผ้าเมื่อเข้าสถานที่คนจำนวนมากหรือแออัด ซึ่งกรมฯ วิเคราะห์สถานการณ์แล้วยืนยันว่า “หน้ากากผ้า” เป็นทางเลือกของคนไม่ป่วยที่จะช่วยสังคมไทยให้ผ่านวิกฤตไวรัสโคโรนา 2019 ไปได้ โดยอยากชวนให้แข่งขันกันทำความดี ให้หน่วยงาน องค์กร ชมรมต่างๆ ช่วยกันประดิษฐ์หน้ากากผ้าให้ได้คนละ 3 ชิ้น คือ สวม สำรอง ซัก หรือรวมประมาณ 201 ล้านชิ้น ถ้าภายใน 1-2 เดือน ทุกคนมีหน้ากากผ้าของตัวเอง คนไทยก็มั่นใจ หน้ากากอนามัยก็ลดความขาดแคลน มีเพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ และทำให้ราคาถูกลง เพราะหน้ากากอนามัยมีอายุ 1 ปี ถ้าไม่รีบขายราคาถูกตอนนี้ก็จะขายไม่ได้ เพราะคนมีหน้ากากผ้าใช้ ขณะนี้กรมได้ทำคลิปวิดีโอสอนการทำหน้ากากผ้าเผยแพร่แล้ว และให้ศูนย์อนามัยทั้ง 13 ศูนย์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ร่วมกับชมรมต่างๆ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรี ในการทำหน้ากากผ้า

นพ.บัญชากล่าวว่า ส่วนที่ว่าหน้ากากผ้าจะช่วยแก้ปัญหาการรับเชื้อได้จริงหรือไม่ กรมฯ ได้มีการทบทวนเอกสารต่างๆ พบข้อมูลยืนยันว่าหน้ากากที่มีคุณสมบัติดี คือ ผ้าฝ้าย ผ้าใยสังเคราะห์ และผ้าสาลู หรือผ้าอ้อมเด็ก ที่สามารถนำมาผลิตหน้ากากผ้าได้ เพราะตัวผ้ามีช่องว่างระหว่างเส้นด้ายขนาดเล็ก ยิ่งซักยิ่งเล็ก ขณะที่โรคโควิด-19 แพร่เชื้อโดยด้วยละอองฝอย หรือดรอปเลต ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5 ไมครอน หน้ากากผ้าจึงรับได้ แต่ไม่ 100% โดยหน้ากากผ้ารับขนาด 1 ไมครอน ได้ประมาณ 54-59% ก็เพียงพอสำหรับคนทั่วไปที่จะเข้าพื้นที่ชุมชน

“สำหรับหน้ากากผ้าควรเอาด้านที่นุ่มและกรองได้ไว้ด้านใน ส่วนที่มีการพิมพ์ลายต่างๆ ให้สวยงามควรเอาไว้ด้านนอก อย่างผ้าสาลูขนาด 1 เมตร ราคา 25 บาท นำมาตัดทำหน้ากากหนา 3 ชั้นได้จำนวน 9 ชิ้น” นพ.บัญชากล่าว

นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประสิทธิภาพหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยคงเอามาเทียบกันไม่ได้ โดยประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยจะดู 3 อย่าง คือ กรองอนุภาคขนาดใหญ่ คือ 3 ไมครอน อนุภาคขนาดเล็ก 0.1 ไมครอน และกันน้ำ อย่างไรก็ตาม กรมวิทย์จะช่วยศึกษาดูให้ว่าหน้ากากผ้าชนิดไหนที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์เรื่องพวกนี้ การเย็บแบบไหนมีการครอบใบหน้าป้องกันหายใจเข้าด้านข้าง และสายรัดที่เหมาะสม คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์จะได้ข้อมูลออกมาสื่อสารว่า การทำหน้ากากผ้าที่มีประสิทธิภาพได้ระดับหนึ่งเป็นอย่างไร

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก สธ.กล่าวว่า สต๊อกหน้ากากอนามัยนั้น สธ.ได้เรียกข้อมูลจากทุกเขตสุขภาพ ซึ่งรายงานเข้ามาเมื่อวันที่ 26 ก.พ. พบว่า เขตที่มีสต๊อกหน้ากากอนามัยต่ำสุดคือ 170,000 กว่าชิ้น มีสูงสุด 1,500,000 ชิ้น โดยรวมแล้วมีอยู่ประมาณ 8 ล้านชิ้นสำหรับบุคลากร รพ.สังกัด สธ. ส่วนจะใช้ได้นานแค่ไหน เป็นเรื่องที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้ตรวจราชการแต่ละเขตต้องบริหารจัดการสต๊อกหน้ากากอนามัยคงคลังให้เกิดประโยชน์ที่สุด อย่างบาง รพ.เจ้าหน้าที่น้อยสต๊อกเยอะ บางโรงพยาบาลคนเยอะแต่สต๊อกน้อย ก็ให้เกลี่ยกันแต่ละที่ได้ ทั้งในระดับจังหวัด และเขต สำหรับข้อมูลจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เมื่อวันที่ 10 ก.พ. - 3 มี.ค. เฉลี่ยต่อวันได้หน้ากากอนามัยเพิ่มเติมต่ำสุด 5 หมื่นชิ้นต่อวัน สูงสุด 5 แสนชิ้นต่อวัน โดยวันที่ 3 มี.ค.ได้ เพิ่มเติม 1.9 แสนชิ้นต่อวัน ยอมรับว่ายังต้องมีการสำรวจความต้องการใช้หน้ากากอนามัยของ รพ.อย่างต่อเนื่องอีก เพราะเหมือนความต้องการจะเพิ่มขึ้น เพราะบางตำแหน่งที่เดิมทีอาจใช้บ้างไม่ใช้บ้าง ขณะนี้ก็มีความต้องการใช้มากขึ้น ก็ต้องมาสำรวจความต้องการให้ชัดเจน เพื่อบริหารจัดการให้เพียงพอ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนกรณีกลุ่มงานทันตกรรมยื่น ผอ.รพ.ให้ปิดวอร์ดทันตกรรม เพราะปัญหาขาดหน้ากากอนามัยไปก่อน ทุกอย่างต้องยึดหลักว่าต้องไม่กระทบบริการประชาชน ผอ.รพ.ต้องบริหารจัดการให้ได้ อาจจะบริหารจัดการเรื่องของคิวผู้ป่วย จัดหาหน้ากากอนามัยให้เพียงพอ อย่างที่บอกว่าก็มีสต๊อกคงคลังอยู่ก็อาจเกลี่ยในระดับจังหวัดหรือระดับเขตตามระดับ ส่วนหน้ากากอนามัยที่บอกว่ากระทรวงพาณิชย์จะให้มานั้น 3.5 แสนชิ้น ถ้าเทียบกับบุคลากร สธ.ทั้งหมด 4 แสนคน แต่ไม่ใช่ทุกคนต้องใช้หน้ากากอนามัย หากได้ตามนี้จริงก็คิดว่าน่าจะเพียงพอ


กำลังโหลดความคิดเห็น