ท่ามกลางสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศหรือเขตการปกครองพิเศษหลายพื้นที่ เช่น จีน ฮ่องกง มาเก๊า ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยยังเป็นการระบาดภายในประเทศแบบวงจำกัด หนึ่งในคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นอกจากการดูแลสุขอนามัยของตนเอง คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ ยังมีเรื่องการหลีกเลี่ยงสถานที่ผู้คนหนาแน่น ที่มิอาจมองข้าม
ดังนั้น การจัดการประชุม สัมมนา งานอีเวนต์ หรือคอนเสิร์ตต่างๆ ที่จะมีผู้คนมาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากในพื้นที่จำกัด สธ.จึงแนะนำว่า “หากเลื่อนได้ก็ควรเลื่อนออกไปก่อน”
หากสำรวจการจัดงานอีเวนต์และคอนเสิร์ตในช่วงนี้ก็พบว่ามีการจัดงานหลายเวที เช่น งานแฟนมีต จีชางอุค (Ji Chang Wook) วันที่ 29 ก.พ. ที่ยูเนียนมอลล์ แต่ได้มีการเลื่อนการจัดงานออกไปแล้ว ส่วนคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์แรกของวงเจร็อกญี่ปุ่น “AliA” ยังคงจัดวันที่ 3 มี.ค. ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ ฮอลล์ 2 หรือการแสดงของ AB6IX บอยแบนด์จากเกาหลีใต้ AB6IX 1st World Tour “6IXENSE” in Bangkok วันที่ 7 มี.ค. ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี รวมไปถึงงานอีเวนต์อื่นๆ อีกจำนวนมากตามศูนย์การประชุมต่างๆ
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ตามหลักการ ในระยะแพร่ระบาดทั่วไป การเอาคนมารวมตัวกันจำนวนมากก็เป็นการสร้างโอกาสการแพร่ระบาดของโรคมากขึ้น คำแนะนำทั่วไป คือ งานใหญ่งานไหนที่เลื่อนได้ สธ.แนะนำให้เลื่อน และพิจารณาตามความเสี่ยงที่จะทยอยขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้อาจจะดูว่าไม่เสี่ยง แต่ข้างหน้าเราพยากรณ์ไม่ได้ ไม่รู้ว่าโรคจะเทกออฟเมื่อไหร่ ถ้าเริ่มระบาดมากขึ้น การให้เลื่อนจัดงานก็จะหนักแน่นขึ้นเรื่อยๆ
อย่างล่าสุด งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีกำหนดจัดงานวันที่ 4-8 มี.ค. 2563 ที่ฮอลล์ 10-12 อิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งการจัดงานแต่ละครั้งก็มีเงินสะพัดในอุตสาหกรรมสมุนไพรหลายร้อยล้านบาท ก็ยังต้องยอมเลื่อนการจัดงานออกไปก่อนเป็นวันที่ 2-6 ก.ย. 2563 เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดหรือมีคนป่วยโรคดังกล่าวขึ้นมาจริงก็อาจได้ไม่คุ้มเสีย
เช่นเดียวกับการแสดงของศิลปินโซนตะวันตกหลายราย จากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 จึงทำให้เกิดการเลื่อนการแสดงในโซนเอเชียไป เช่น รูล ฟรี ไทม์ เวิลด์ทัวร์ ไลฟ์ อิน แบงค็อก 2020 จากเดิมจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 14 มีนาคมนี้ ที่จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์เฮาส์ เซ็นทรัลเวิลด์ จะเลื่อนไปเป็นวันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2563 หรือเคอลีด ฟรี สปิริต เวิลด์ทัวร์ 2020 แบงค็อก ก็ประกาศแจ้งเลื่อนการแสดงออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม หากงานอีเวนต์สำคัญอะไรที่เลื่อนการจัดไม่ได้ ทางกรมควบคุมโรคก็มีข้อแนะนำในการปฏิบัติสำหรับการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับการจัดการประชุม สัมมนา หรือกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยระบุว่าเชื้อโรคเหล่านี้สามารถแพรได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยได้ หากผู้จัดงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดงานประชุม สัมมนา ควรกิจกรรมออกไปก่อน หากมีเหตุผลอันสมควรที่จำเป็นจะต้องจัด ควรเตรียมความพร้อมในการคัดกรองผู้เข้าร่วมประชุม ป้องกันและควบคุมโรคที่เข้มงวดและดีพอ
คำแนะนำสำหรับผู้จัดงาน คือ 1. จัดให้มีระบบคัดกรองผู้ที่มีอาการไข้ ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจ ทุกวันก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งของโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ จาม มีน้ำมูก ให้แนะนำให้พบแพทย์ และงดการเข้าร่วมกิจกรรมจนกว่าจะหายป่วย ในกรณีของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่พบอาการ หรืออาการแสดงดังกล่าว ให้จัดทำสัญลักษณ์ติดประจำตัวผู้นั้นให้เห็นชัดเจน ก่อนเข้า
2. จัดเตรียมจุดล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการใช้งานร่วมกันจำนวนมาก เช่น ห้องประชุม ห้องสุขา จุดลงทะเบียน จุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม เป็นตัน
3. จัดให้มีหน้ากากอนามัย แจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างทั่วถึง ให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนให้สวมใส่หน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลาที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อลดการแพร่ของเชื้อโรคต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจกระจายของเชื้อโรค
4. ให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในการล้างมือด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนและหลังจากเสร็จสิ้นการเข้าร่วมกิจกรรม ก่อนออกจากสถานที่จัดการประชุมสัมมนา เป็นต้น
5. จัดให้มีจุดแนะนำและพยาบาลสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยสามารถให้บริการปฐมพยาบาลให้การดูแลรักษาเบื้องตันแก่ผู้ปวย โดยแยกผู้ปวยออกจากกิจกรรมการรวมตัวนั้น โดยอาจแนะนำให้พักรักษาตัวที่บ้านหรือที่พัก หากเห็นว่าควรส่งกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ที่พัก หรือโรงพยาบาล ตามแต่กรณี และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับผู้สัมผัสโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) ให้พิจารณาส่งต่อไปรับการตรวจวินิจฉัยในสถานพยาบาลที่มีการประสานไว้ล่วงหน้า
6. จัดให้มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ และบริเวณที่มีผู้สัมผัสปริมาณมาก เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ห้องน้ำ ด้วยน้ำผงชักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด และ 70% แอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
7. จัดหา-จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์คำแนะนำการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค เช่น วิธีการสวมใส่ และวิธีการใช้หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง วิธีการลังมือที่ถูกต้อง รวมทั้งให้ผู้ร่วมกิจกรรมทราบข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ จากแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่เชื่อถือได้
8. ควรลดความแออัดของผู้เข้าร่วมกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของการประชุม สัมมนา และกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เช่น จัดสถานที่และห้องประชุมให้กว้างขวางเพียงพอ ไม่ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั่งหรือยืนอยู่รวมกันอย่างเบียดเสียด กระจายมุมบริการอาหารและเครื่องดื่ม เป็นตัน
ส่วนคำแนะนำสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม คือ 1. ควรงดเข้าร่วมกิจกรรม หากตนเองมีอาการป่วนของโรคระบบทางเดินหายใจ 2. ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ควรจัดเตรียมหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เจล สำหรับใช้ของตนเองให้เพียงพอ และควรปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย เช่น ล้างมีอบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล การสวมใส่หน้ากากอนามั้ย
3. หากพบว่าตนเองป่วยหรือเริ่มป่วย ควรติดต่อขอเข้ารับการตรวจรักษาตามขั้นตอน และหากอาการป่วยนั้นเข้าได้กับโรคในระบบทางเดินหายใจควรงดเข้าร่วมกิจกรรมทันที 4. หากสังเกตเห็นผู้ร่วมกิจกรรมมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ผิดปกติ ควรแนะนำให้ผู้มีอาการติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ จุดปฐมพยาบาล เพื่อรับการตรวจรักษาตามขั้นตอน และขอรับหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ และ 5. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้มีอาการป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการโรคในระบบทางเดินหายใจที่ไม่ป้องกันตนเอง
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า อย่างการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินต่างชาติ ตัวศิลปิน และแดนเซอร์ต่างๆ ก็ต้องมีการตรวจร่างกายว่ามีไข้และอาการทางเดินหายใจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากปกตินักร้องเป็นหวัดก็คงไม่ขึ้นเวทีอยู่แล้ว เพราะร้องยาก ส่วนจะต้องเลื่อนการจัดงานหรือไม่นั้น แล้วแต่การพิจารณาของผู้จัดงาน แต่หากอนาคตมีการออกประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ก็ต้องขึ้นกับบริบทของแต่ละจังหวัด โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จะพิจารณาว่าการจัดงานแบนนี้ ความเสี่ยงแบบนี้ควรให้จัดงานหรือไม่
“การที่คอนเสิร์ตมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาด ไม่ใช่ว่านักร้องร้องแล้วน้ำลายกระจายมาถูกตัวเรา แต่จริงๆ แล้วเกิดจากการที่คนที่เข้าไปดูด้วยกัน เพราะจำนวนคนมาก ต่างคนต่างสนุกและอยู่ใกล้ชิดก็มีโอกาสที่จะสัมผัสน้ำลายในระยะใกล้มากกว่าที่จะมาจากศิลปินบนเวที จริงๆ ที่น่าห่วงคือ คนไทยที่ไปรวมกัน บางคนป่วยก็เข้าไปดู อย่าเข้าใจผิดว่า นักร้องแพร่ให้กับผู้ฟังผู้ชม แต่การรวมของคน แล้วคนป่วยไม่ยอมทำตามคำแนะนำ และฝืนเข้าไป ก็อาจไปแพร่ให้คนรอบๆ ดังนั้น คนป่วยควรงด และคนจัดงานต้องเข้มตรวจอย่างจริงจัง หากใครป่วยเข้าไม่ได้ก็ให้คืนเงิน” นพ.โสภณกล่าว
การป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายได้ดีที่สุด คือ ทุกคนในสังคมช่วยกันตระหนักและร่วมกันปฏิบัติ จะช่วยชะลอการแพร่ระบาดภายในประเทศไทยออกไปได้
ขอบคุณภาพจาก อิมแพค เมืองทองธานี