สธ.ปรับแผนดูแลจิตใจเหตุกราดยิงโคราช ตั้ง รพ.จิตเวชขนาดย่อยในห้างเทอร์มินอลโคราช 2 สัปดาห์ ตรวจคัดกรองความเครียดที่ รพ.สต.ทุกแห่ง ย้ำขอให้ใช้ชีวิตตามปกติ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการดูแลตรวจคัดกรองจิตใจเหตุกราดยิงโคราช ตั้งแต่วันที่ 8-13 ก.พ.2563 พบผู้ที่มีความเครียดสูง ต้องได้รับการดูแลประคับประคองจิตใจอย่างต่อเนื่อง 274 คน คิดเป็นร้อยละ 13.09 ของผู้ที่ได้รับการตรวจทั้งหมด 2,093 คน โดยเป็นกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิต กลุ่มผู้บาดเจ็บ และญาติมากที่สุด จำนวน 118 คน กลุ่มผู้ที่อยู่ภายในห้างเทอร์มินอลและผู้ที่เห็นเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ จำนวน 114 คน ที่เหลืออีก 42 คน เป็นประชาชนที่เครียดจากการติดตามข่าวสารตามสื่อต่างๆ ตั้งแต่วันเกิดเหตุ ดูแลกลุ่มญาติผู้เสียชีวิต กลุ่มที่บาดเจ็บและญาติครบ 100% ส่วนที่ต้องเร่งดำเนินการให้ครบ คือ ตัวประกัน กลุ่มผู้อยู่ในห้างเทอร์มินอล 21 และผู้เห็นเหตุการณ์ที่จุดเกิดเหตุอื่นๆ ซึ่งขณะนี้ทำได้ 39% จากที่คาดว่าจะมีประมาณ 1,800 คน ทั้งนี้ วันนี้กรมฯ ได้ปรับแผนการทำงานเชิงรุกเป็น 2 ส่วน คือ
1.ตั้งคลินิกหมอใจภาคสนามที่ชั้น G ห้างเทอร์มินอล 21 คล้ายเป็นรพ.จิตเวชขนาดย่อย จัดจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลจิตเวช เภสัชกร เป็นต้น พร้อมเวชภัณฑ์ยาจำเป็น และรถพยาบาล บริการตรวจความเครียด ปรึกษาปัญหาจิตใจต่างๆ ฟรี เป็นเพื่อนใจแก่ผู้ที่อยู่ภายในห้าง ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ที่เข้าไปชอปปิ้ง ตลอดวันทำการอย่างเต็มที่ ในเบื้องต้นประจำการ 2 สัปดาห์ก่อน พร้อมให้ รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์สำรองเตียงไว้ 20 เตียง เพื่อรองรับในรายที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ และสามารถขยายเพิ่มได้อีกหากจำเป็น และ 2.เร่งขยายผลบริการให้ครอบคลุมชุมชนใน จ.นครราชสีมา เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด โดยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา จัดบริการตรวจคัดกรองความเครียดใกล้บ้านที่สุด คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่ง รวมทั้งให้อาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมค้นหาผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจหลังเกิดเหตุการณ์ เพื่อส่งเข้ารับการตรวจประเมินที่รพ.สต. และจัดระบบการดูแลรายที่มีอาการรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
"หลังจากเหตุคลี่คลายไปแล้ว ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ สามารถไปเที่ยวพักผ่อนที่ห้างสรรพสินค้าได้เหมือนเดิม ผู้ที่มีโรคประจำตัวทั้งทางกายและทางจิต ขอให้กินยาอย่างต่อเนื่อง อย่าขาดยา ในส่วนของประชาชนทั่วไป หากประชาชนรายใด มีอาการไม่สบายใจ เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ฝันร้าย เห็นภาพร้ายๆ ผุดขึ้นมาบ่อยๆ หรือได้ยินเสียงเหตการณ์วนเวียนก้องอยู่ในหูบ่อยๆ รู้สึกไม่อยากพูดคุยกับใคร อารมณ์หงุดหงิดง่าย อ่อนเพลีย หายใจไม่ค่อยอิ่ม อย่าทนอมทุกข์ไว้ เนื่องจากจะทำให้ความเครียดสะสม ขอให้ไปรับบริการที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง รวมทั้งที่รพ.จิตเวช" นพ.เกียรติภูมิกล่าว